พิษณุโลก-เปิดฝายชลอน้ำบ้านน้ำดำช่วยบรรเทาขาดแคลนน้ำ
ภาพ/ข่าว:อนุชา แก้วคำมา
เปิดฝายชลอน้ำบ้านน้ำดำช่วยบรรเทาขาดแคลนน้ำ
เมื่อวันที่ 8 ส.ค.62 ผู้สื่อข่าวรางานว่า ที่หมู่ 10 บ้านน้ำดำ ต.ดอนทอง อ.เมืองพิษณุโลก นายชัชพงศ์ เอมะสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย นายเจษฎา ลิ้มศรีตระกูล นายอำเภอเมืองพิษณุโลก พ.อ.วัชรพงศ์ แก้วแจ้ง รอง ผบ.มทบ.39 พร้อมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดพิษณุโลก และประชาชนในพื้นที่ร่วมเปิดฝ่ายหลวงบ้านน้ำดำที่สร้างแล้วเสร็จ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภค
ทั้งนี้ มีประชาชนในพื้นที่บ้านน้ำดำ หมู่ที่ 10 และบ้านหินลาด หมู่ที่ 14 ต.ดอนทอง อ.เมืองพิษณุโลกพิษณุโลก ประสบปัญหาผลกระทบจากภัยธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่ประกอบด้วย ปัญหาภัยแล้ง และขาดแคลนน้ำกิน และน้ำใช้ในภาคเกษตรกรรม ปัญหาอุทกภัยที่เกิดน้ำป่าไหลหลากซ้ำซากในช่วงฤดูฝนทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาเป็นเวลานาน ทางภาครัฐและประชาชนจึงได้จัดทำประชุมประชาคมหมู่บ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
โดยมีมติที่ในประชุมเมื่อวันที่ 31 ม.ค.62 ที่ผ่านมา ให้จัดทำฝายน้ำล้น ซึ่งมีประโยชน์มากมาย สามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้คนในพื้นที่ที่ประสบอยู่ขาดแคลนน้ำ การสร้างฝายชะลอน้ำนี้ ได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากชาวบ้านจึงเรียกว่า ฝายหลวงบ้านน้ำดำ โดยการจัดทำฝายได้ใช้แนวทางตามหลัก CSR คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร คือการดำเนินกิจการภายใต้หลักจริยธรรม และการจัดการที่ดี โดยรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับไกลและใกล้ อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีการบูรณาการร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงและได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการสร้างฝาย เพื่อกักเก็บรักษาน้ำไว้ใช้ทั้งบริโภค การเกษตรของชุมชน และเป็นพื้นที่รับน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนดินผืนป่าบริเวณโดยรอบ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด
ตลอดทั้งป้องกันและช่วยในการดับไฟเมื่อเกิดไฟป่าในหน้าแล้ง เพื่อปลุกจิตสำนึกที่ดีในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนและเยาวชนของชาติ รวมถึงใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อน หย่อนใจ เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ในการสร้างฝายชะลอน้ำ สร้างความตระหนักในการดำเนินงานด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม(CSR)
สำหรับฝายหลวงบ้านน้ำดำ ได้เริ่มสำรวจพื้นที่และดำเนินการสร้างมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 โดยโครงสร้างใช้วัสดุจากธรรมชาติ ดิน หิน ทราย ปูน และไม้ไผ่ที่ได้รับการบริจาคจากชาวบ้านในพื้นที่ตำบลดอนทองจำนวน 1,100 ลำ ขนาดของสันฝายบนกว้าง 4 เมตร สันฝายล่างกว้าง 12 เมตร ยาว 40 เมตร สูง 8 เมตร ปริมาตรการกักเก็บน้ำประมาณ 30,000 ลูกบาศก์เมตร ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 400,000 บาท ในการจัดงานครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/