ระยอง-เตรียมมาตรการป้องกันทุเรียนอ่อน พร้อมยกระดับติดQR Code
ภาพ/ข่าว:อัจฉรา วิเศษศรี
ติวเข้มเจ้าหน้าที่ ก่อนลงสำรวจสวนทุเรียน
ขยายติดสติกเกอร์QR Code เพื่อยกระดับคุณภาพทุเรียนระยอง
วันที่ 28 มีนาคม ที่โรงแรม โกลเด้นซิตี้ อ.เมือง ระยอง นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผวจ.ระยอง เป็นประธานเปิด โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงการวางแผนการปฏิบัติงานให้กับเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องในการทำ QR Codeและการใช้งาน ระบบ QR Trade เพื่อยกระดับคุณภาพทุเรียนระยอง โดยมี นายวีระยุทธ ทุมทอง สหกรณ์จังหวัดระยองกล่าวรายงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ประจำสถานี QR Code ใน 5 อำเภอ ที่มีเกษตรกรปลูกทุเรียน รวม 38 ตำบล ได้แก่ อำเภอเมืองระยอง อำเภอบ้านค่าย อำเภอวังจันทร์ อำเภอแกลง และอำเภอเขาชะเมา ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดระยองและสำนักงานเกษตรอำเภอต่างๆ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดระยอง และผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งสิ้น 140 คน
นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผวจ.ระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองเป็นแหล่งผลไม้คุณภาพของภาคตะวันออกของประเทศไทย ทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง สับปะรด และอื่น ๆ โดยเฉพาะทุเรียนระยองเป็นที่ยอมรับในคุณภาพของผู้บริโภค ผู้จำหน่ายมักจะติดป้ายบ่งบอกว่าเป็นทุเรียนระยองทำให้จำหน่ายขายดี แต่ปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพหรือทุเรียนอ่อนยังมีให้เห็นทุกปีตลอดมา ทั้งที่จังหวัดระยองพยายามรณรงค์ตรวจสอบจับกุมการจำหน่ายทุเรียนอ่อนอย่างต่อเนื่อง การทำQR Code ทุเรียนระยอง จะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะเป็นการยกระดับราคาและคุณค่าของทุเรียนระยองให้แตกต่างจากทุเรียนที่อื่น รองรับการค้าในระบบตลาด Online ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และรองรับนโยบายโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ( EEC ) ของรัฐที่จะมุ่งสู่ 3 จังหวัด ภาคตะวันออก ทั้งฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง นโยบายต่าง ๆ จะเป็นโอกาสให้ผลไม้ระยองมีช่องทางจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอีกมากมายการจัดทำ QR Code และ Application ทุเรียนระยอง ซึ่ง QR Code จะเป็นเครื่องมือตรวจสอบย้อนกลับสู่ต้นตอแหล่งกำเนิด สถานที่ผลิต รายละเอียดข้อมูลของผู้ผลิต ขบวนการผลิต การเก็บรักษา มาตรฐานที่ได้รับ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคให้เกิดความพึงพอใจในทุเรียนระยองยิ่งขึ้น
นายวีระยุทธ ทุมทอง สหกรณ์จังหวัดระยอง กล่าวว่า ซึ่งในการจัดทำ QR Code ทุเรียนระยองของปีที่สอง จำเป็นต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรและรณรงค์ให้เข้าร่วมโครงการ มากขึ้น จึงต้องใช้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาคี เพื่อช่วยเหลือและขับเคลื่อนให้สำเร็จตามกำหนด ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้อง เข้ารับการอบรมการทำ QR Code จากนั้น จึงลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลจากเกษตรกรชาวสวนทุเรียน และ นำข้อมูลเข้าระบบเพื่อจัดทำ QR Code ทุเรียนระยอง ติดที่ขั้วทุเรียนระยอง ซึ่งเมื่อปีที่ แล้ว มีเจ้าของสวนร่วมโครงการ 200 ราย ใช้ QR Code จำนวน 600,000 ดวง ปีนี้ มีความร่วมมือจากหลายสวนที่ให้ความสนใจ คาดว่าจะขยายเพิ่ม300 ราย ใช้ QR Code จำนวน 1.5ล้านดวง