ราชบุรี-ชาวทุ่งหลวงน้ำตาตกปลูกข้าวเจอแล้ง

ราชบุรี-ชาวทุ่งหลวงน้ำตาตกปลูกข้าวเจอแล้ง

ภาพ/ข่าว:สุจินต์ นฤภัย (เต้)

      ชาวนาใน ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เดือดร้อนหนัก เจอฝนทิ้งช่วงขาดน้ำ ต้นข้าวเริ่มเหี่ยวเฉา วอนฝนหลวงช่วยเหลือ และขอชลประทานตัดผ่านพื้นที่ เพื่อแก้ภัยแล้งระยะยาว

        วันที่12 ก.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรทำนาในพื้นที่หมู่ 2 หมู่ 3 หมู่ 4 หมู่ 6 หมู่ 7 และหมู่ 10 รวมพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ใน ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงมานานนับเดือนจนประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลทำให้ต้น ข้าวที่ปลูกเริ่มได้รับผลกระทบ บางแปลงเหี่ยวเฉา ลำต้นแคะแกร็น เหลือง พื้นดินแห้ง บางแห่งหว่านข้าวเป็นรอยที่ 2 เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่มีฝนตกลงเล็กน้อยพอชุ่ม ๆ พื้นดิน ไม่มีน้ำขัง
        นายสงกรานต์ อ่วมอาบ เกษตรกรทำนา กล่าวว่า ทำนา 8 ไร่ ลงทุนไปไร่ละ ประมาณ 1,500 บาท รวมเกือบ 20,000 บาท เมื่อปีที่แล้วได้ข้าวประมาณ 4 – 5 ตัน ส่วนปีนี้มองดูสภาพพื้นที่แล้วคงไม่ได้ข้าวแน่นอน พอเริ่มทำนามาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม มีฝนตกลงมาเพียงครั้งเดียว จนข้าวเหี่ยวตายไปแล้วครั้งหนึ่ง และก็มาหว่านข้าวใหม่อีกรอบหนึ่ง สงสัยว่าอาจจะต้องยืนต้นตายไปอีกรอบที่ 2 มีฝนตกลงมาบ้างแต่ตกเล็กน้อยแค่ฝนปรอย ๆ คาดว่าพื้นที่นาข้าวทั้งตำบลมีอยู่ประมาณ 1,000 ไร่ และยังมีพื้นที่ปลูกอ้อย และพืชผักอื่น ๆ ได้รับผลกระทบหมด จึงอยากได้ฝนเทียมเข้ามาช่วยเหลือด่วนในเบื้องต้นก่อน ยังคงทันเวลาเหตุการณ์กับปัญหาเฉพาะหน้าของนาข้าวที่ต้องการน้ำฝนอยู่ในตอนนี้เพราะมีเกษตรกรอีกหลายรายได้ลงทุนปลูกข้าว ข้าวกำลังเจริญเติบโตอยู่ หลังจากที่ได้ไปกู้ยืมเงินจากธนาคาร ธกส.มาลงทุนหวังจะได้เงินคืน ส่วนอีกเรื่องอยากให้กรมชลประทานเข้ามาสำรวจพื้นที่ เพื่อให้มีคลองชลประทานผ่านพื้นที่หรือช่วยขุดสร้างคลองเก็บกักน้ำ ชาวบ้านในตำบลจะได้มีน้ำใช้ในการเกษตรในระยะยาวอย่างถาวร
          แต่เหตุปัญหาด่วนตอนนี้ อยากให้ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านในตำบลทุ่งหลวงด้วย เพราะเหลือเวลาอีกประมาณเดือนเศษก็จะสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้ว แต่อาจจะได้ข้าวที่ไม่ค่อยมีคุณภาพมากนัก เพื่อพอมีเงินจาก ขายข้าวไปจ่ายหนี้ธนาคารได้บ้าง
           นายมนัส อำพันธ์ภาค อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 91 หมู่ 2 ต.ทุ่งหลวง เปิดเผยว่า มีที่นาอยู่ประมาณ 70 ไร่ เป็นนาเช่าอยู่ 34 ไร่ นาของตัวเอง 36 ไร่ ในการทำนาแต่ละครั้งจะไปกู้ยืมเงินมาลงทุน 6 – 7 หมื่นบาท ปีที่แล้วทำนาทั้งหมด 70 ไร่ ได้ข้าวประมาณกว่า 30 ตัน แต่ปีนี้ดูจากปริมาณฝนตกน้อยและทิ้งช่วง คิดว่าคงหมดโอกาสที่จะได้ข้าวเปลือกเหมือนกับปีที่แล้วอย่างแน่นอน และยังไม่รู้จะไปหาเงินที่ไหนที่จะนำมาใช้หนี้ได้
             นายวิลาส พลอยงาม อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 6/1 หมู่ 2 ต.ทุ่งหลวง กล่าวว่า ปีที่แล้วทำนาอยู่ 40 ไร่ มาปีนี้ต้องลดจำนวนลงเหลือแค่ 5 ไร่ เนื่องจากขาดทุนในการทำนามาก และยังมีปัญหาเรื่องหนี้สิน จากที่นามีปัญหาภัยแล้ง จึงตัดสินใจทำนาแค่นี้เอาข้าวเปลือกไปสีที่โรงสีเพื่อเก็บไว้กินต่อปี แต่ขณะนี้มองดูว่าที่นาที่ทำอยู่ 5 ไร่ ก็คงจะไม่ได้เห็นเม็ดข้าวเปลือกอีก เพราะนาข้าวกำลังเหี่ยวเฉายืนต้นตายจากการขาดน้ำหล่อเลี้ยง ผืนนาก็แตกระแหง อีกทั้งพื้นที่อยู่นอกเขตชลประทานไม่มีน้ำจากที่อื่น นอกจากรอน้ำฝนจากฟ้ามาช่วยเพียงอย่างเดียว

             นายนรเศรษฐ เรืองพยุงศักดิ์ นายกเทศบาลตำบลทุ่งหลวง เปิดเผยแนวทางช่วยเหลือว่า สำหรับตำบลทุ่งหลวงมี 16 หมู่บ้าน ปีนี้ฝนตกน้อยมากและยังทิ้งช่วงอีก ชาวบ้านส่วนมากจะทำการเกษตรได้รับความเดือดร้อนอยู่ ที่ผ่านมาทางเทศบาลมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและมีทางอำเภอปากท่อได้ให้เทศบาลสำรวจเพิ่มเติม พร้อมส่งโครงการเข้าอำเภอเพื่อให้ทางอำเภอส่งไปจังหวัดให้เป็นงบจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ส่วนตอนนี้ได้ดูพื้นที่ ซึ่งมีเกษตรกรเดือดร้อนมาก การทำนาก็ไม่ได้ผล โดยนายประทีป นทีทวีวัฒน์ นายอำเภอปากท่อ ได้สั่งการให้ทางเกษตรกรที่เดือดร้อนไปแจ้งที่เทศบาลว่ามีพืชผลทางการเกษตรเสียหายอะไรบ้าง ซึ่งทางเทศบาลฯจะทำหนังสือถึงเกษตรอำเภอให้เร่งเข้ามาสำรวจเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว

              ส่วนระยะยาวทางเทศบาลตำบลทุ่งหลวงจะประสานกับสำนักงานโครงการชลประทานราชบุรี ให้มาสำรวจพื้นที่ในการนำแหล่งน้ำผ่านเข้ามาในพื้นที่ เนื่องจากชาวนาได้รอคอยแต่น้ำฝนเพียงอย่างเดียว ถ้ามีโครงการชลประทานผ่านคาดว่าจะทำให้ปัญหาต่าง ๆ คลี่คลายไปในทางที่ดีมากกว่านี้

             อย่างไรก็หลังทราบปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านนายประทีป นทีทวีวัฒน์ นายอำเภอปากท่อ ได้สั่งการให้ นายลือชา วงศ์เปี่ยม ปลัดอำเภอปากท่อ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอและเกษตรตำบลทุ่งหลวง เข้ามาตรวจสอบพร้อมพูดคุยสอบถามถึงปัญหากับเกษตรกรชาวนา เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือเบื้องต้น นอกจากนี้ทางนายกเทศบาลตำบลทุ่งหลวงได้ขอให้นำปัญหาดังกล่าวไปประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าวหมู่บ้าน เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบ และเดินทางมาแจ้งปัญหาภัยแล้งได้ที่เทศบาล ซึ่งจะได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาตามเกณฑ์ของรัฐในการช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างเร่งด่วน อีกทั้งจะประสานไปที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เพื่อให้ช่วยประสานไปที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเข้ามาช่วยเหลือทำฝนเทียมแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวนาเบื้องต้นก่อน..

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!