สุพรรณบุรี-รับบริจาคโลหิตตามโครงการให้โลหิตให้ชีวิตมีรอยยิ้ม
ภาพ/ข่าว:มงคล สว่างศรี-ภัทรพล พรมพัก-ธนกฤต แตงโสภา-ธีรพร ชูก้าน-นพดล แก้วเรือง-ไพรัช ภมรพล-โสภณ สว่างศรี-นิกร สิงห์พิมาตร์-อาคม หลักคำ-ดนัยภพ สังข์สุวรรณ
รับบริจาคโลหิตตามโครงการให้โลหิตให้ชีวิตมีรอยยิ้ม
ที่ศาลาประชาคม อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี โรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยายมราช สภากาชาดไทย จ.สุพรรณบุรี ร่วมกับบริษัท ศรีประจันต์วัฒนยนต์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดงานรับบริจาคโลหิตเพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ ภายใต้โครงการ “ให้โลหิต ให้ชีวิต มีรอยยิ้ม” ด้านนายอาทิตย์ สุริยะพันธุ์พงศ์ ผู้บริหารบริษัทศรีประจันต์วัฒนยนต์ จำกัด เปิดเผยว่า โครงการ “ให้โลหิต ให้ชีวิต มีรอยยิ้ม” ได้เปิดรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ตามอำเภอต่าง ๆ หมุนเวียนไปจนครบทั้ง 10 อำเภอ ในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีประชาชนผู้ใจบุญเข้าร่วมโครงการบริจาคโลหิตกันเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาประชาชนที่เข้ามาบริจาคโลหิต ได้มีการเตรียมร่างกาย และเตรียมความพร้อมมาบริจาคโลหิตเป็นอย่างดี เพราะทุกฝ่ายช่วยกันออกประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ล่วงหน้าก่อน สำหรับผู้ที่มาบริจาคโลหิตในอำเภอสามชุก มีทั้งหมดจำนวน 213 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่รับบริจาคโลหิต จะให้การดูแลเป็นอย่างดี นอกจากนี้ทางบริษัท ศรีประจันต์วัฒนยนต์ จำกัด ได้นำ เสื้อ กระเป๋า หมวก ร่ม ผ้ากันเปื้อน และพวงกุญแจ มาแจกให้กับผู้ที่มาร่วมบริจาคโลหิต เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่มีจิตกุศลและเป็นของที่ระลึกกลับบ้านไปด้วย
นอกจากนี้ยังมีบริจาคโลหิตมีผู้ที่บริจาคโลหิตกันมาอย่างต่อเนื่องนับ 10 ปี โดยเฉพาะ นายภิรมย์ กล้าหาญ อายุ 55 ปี ข้าราชการสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสามชุก ได้เปิดเผยว่าได้บริจาคโลหิตมาแล้ว 136 ครั้ง เริ่มบริจาคครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 18 ปี และทำติดต่อกันอย่างต่อเนื่องรวมระยะเวลา 37 ปี การที่มาบริจาคโลหิตมาอย่างต่อเนื่องนั้นเพราะตระหนักถึงชีวิตผู้อื่นเพราะว่าตนนั้นมีร่างกายแข็งแรงมีโอกาสที่ดีกว่าผู้อื่น ประกอบกับขณะนี้โลหิตตามโรงพยาบาลต่างๆนั้นยังขาดแคลนอีกเป็นจำนวนมาก หากโลหิตของเรามีประโยชน์กับผู้อื่นก็ยินดีที่จะบริจาคต่อไป
ด้านนายไพฑูรย์ สมตัว สาธารณสุขอำเภอสามชุก กล่าวว่า ในส่วนของสาธารณสุขได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับประชาชนผู้ที่มีจิตเป็นกุศลที่จะมาเข้าร่วมบริจาคโลหิต โดยเฉพาะประชาชนท่านใดที่ยังไม่เคยมาบริจาคโลหิตต้องมีการเตรียมความพร้อมดังนี้ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ในเวลานอนปกติของตนเองในคืนก่อนวันที่จะมาบริจาคโลหิต, สุขภาพสมบูรณ์ทุกประการ ไม่เป็นไข้หวัด หรืออยู่ระหว่างรับประทานยาปฏิชีวนะใดๆ เช่น ยาแก้อักเสบ ต้องหยุดยาแล้วอย่างน้อย 7 วัน, ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทที่มีไขมันสูง ภายใน 6 ชั่วโมง ก่อนมาบริจาคโลหิต ได้แก่ ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู เพราะจะทำให้พลาสมามีสีขาวขุ่นไม่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้, การดื่มน้ำก่อนบริจาคโลหิต 30 นาที ประมาณ 3-4 แก้ว ซึ่งเท่ากับปริมาณโลหิตที่เสียไปในการบริจาค จะทำให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น และช่วยลดภาวะการเป็นลมจากการบริจาคโลหิตได้, งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ก่อนมาบริจาคโลหิตอย่างน้อย 24 ชั่วโมง, งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี ที่สำคัญขณะบริจาคโลหิตควรสวมใส่เสื้อผ้าที่แขนเสื้อไม่คับเกินไป สามารถดึงขึ้นเหนือข้อศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้วเลือกแขนข้างที่เส้นโลหิตดำใหญ่ชัดเจน ผิวหนังบริเวณที่จะให้เจาะ ไม่มีผื่นคัน หรือรอยเขียวช้ำ, ถ้าแพ้ยาทาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า, ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมขณะบริจาคโลหิต, ขณะบริจาคควรบีบลูกยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โลหิตไหลได้สะดวก หากมีอาการ ผิดปกติ เช่น ใจสั่น วิงเวียน มีอาการคล้ายจะเป็นลม อาการชา อาการเจ็บที่ผิดปกติ ต้องรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันที
โดยเฉพาะหลังบริจาคโลหิตเสร็จเรียบร้อยนอนพักบนเตียง 5-10 นาที ก่อนลุกจากเตียง, อาจทำให้เวียนศีรษะเป็นลมได้ให้นอนพักสักครู่จนกระทั่งรู้สึกสบายดี จึงลุกไปดื่มน้ำ และรับประทานอาหารว่างที่จัดไว้รับรอง, พักรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มที่เจ้าหน้าที่จัดไว้บริการ และนั่งพักอย่างน้อย 15 นาที, ให้ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เป็นเวลา 1 วัน, ไม่ควรรีบร้อนกลับ ควรนั่งพักจนแน่ใจว่าเป็นปกติ หากมีอาการเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที, หลีกเลี่ยงการขึ้นลงลิฟท์ บันไดเลื่อน อาจทำให้รู้สึกวิงเวียนและเป็นลมได้, ถ้ามีโลหิตซึมออกมาจากรอยผ้าปิดแผล ให้ใช้นิ้วมืออีกด้านหนึ่งกดลงบนผ้าก๊อซ กดให้แน่นและยกแขนสูงไว้ประมาณ 3-5 นาที หากยังไม่หยุดซึมให้กลับมายังสถานที่บริจาคโลหิตเพื่อพบแพทย์หรือพยาบาล, หลีกเลี่ยงการทำซาวน่า หรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากๆ, ไม่ใช้กำลังแขนที่เจาะบริจาค เช่น ยกของหนัก เป็นเวลา 24 ชั่วโมง หลังการบริจาคโลหิต, ควรพักผ่อนและหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาทิ การเดินซื้อของ อยู่ในบริเวณที่แออัดหรืออากาศร้อนอบอ้าว เป็นต้น, ผู้บริจาคโลหิตที่ทำงานปีนป่ายที่สูง หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ควรหยุดพัก 1 วัน, หลังจากบริจาคโลหิต ให้รับประทานอาหารตามปกติ ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยโลหิตที่บริจาค, รับประทานธาตุเหล็กวันละ 1 เม็ดจนหมดเพื่อชดเชยเหล็กที่เสียไปจากการบริจาคโลหิต และป้องกันการขาดธาตุเหล็ก เพื่อให้สามารถบริจาคโลหิตได้อย่างสม่ำเสมอ, การรับประทานธาตุเหล็กบำรุงโลหิต พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีวิตามินซีสูง เช่น น้ำส้ม น้ำฝรั่ง หรือน้ำมะเขือเทศ จะทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดี ยกเว้นชาเขียวเพราะจะไปขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็ก
ส่วนนายจิรศักดิ์ ชำนาญภักดี นายอำเภอสามชุก กล่าวว่า ในขณะนี้ปัญหาวิกฤตขาดแคลนเลือด และเกล็ดเลือด “เลือด” เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยอย่างมากทั้งผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด และผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการผ่าตัดเองก็ตาม ที่ผ่านมาสิ่งที่เห็นชินตาและคุ้นตาเสมอคือการประกาศรับบริจาคเลือดจากสภากาชาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยกลางสำหรับการรวบรวมและส่งต่อเลือดให้โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 100 แห่ง และแม้แต่โรงพยาบาลรัฐบาลเอง หลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลราชวิถี มีข้อกำหนดว่า คนที่จะเข้ารับการผ่าตัดเอง จะต้องให้ญาติหรือเพื่อนมาบริจาคเลือดกรุ๊ปเดียวกับผู้ป่วยอย่างน้อย 2 คน หรือกรุ๊ปอื่นๆ เพื่อให้เลือดในคลังของโรงพยาบาลต่างๆ มีอยู่อย่างเพียงพออย่างไรก็ตามกระแสการรับบริจาคเลือดนั้น เมื่อมีการประกาศขาดแคลนเลือดทุกครั้ง ก็จะมีประชาชนจำนวนมากมาบริจาคเลือด แต่กระแสนั้นก็จะตกอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตามสาเหตุที่แท้จริงของการขาดแคลนเลือดในปัจจุบัน เนื่องจากการแพทย์ไทยเจริญมากขึ้น มีการใช้โลหิตมาก แต่มีประชาชนมาบริจาคน้อย จึงไม่สมดุลกัน จึงอยากให้ประชาชนเข้ามาบริจาคโลหิต 3,000 คนต่อวัน หากประชาชนมาเพียงแค่ 1,500 คน ก็จะมีคนไข้อีกเป็นร้อยคนที่ต้องรอคิว จึงต้องมีการรณรงค์ให้ประชาชนที่มีความใจบุญหรือสุขภาพร่างกายแข็งแรงมาบริจาคโลหิต เพราะโลหิตที่ได้รับจะหมดวันต่อวัน ที่นี้ต้องมาหาสาเหตุว่าทำไมประชาชนถึงไม่มาบริจาคอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะต้องช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนออกมาบริจาคเพิ่มให้ได้ตามความต้องการของโรงพยาบาลต่างๆ
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/