กาญจนบุรี-สาธารณสุข เชิญชวนประชาชนใส่ใจ ห่วงใยสุขภาพพระสงฆ์ด้วยการถวายอาหารสุขภาพ

กาญจนบุรี-สาธารณสุข เชิญชวนประชาชนใส่ใจ ห่วงใยสุขภาพพระสงฆ์ด้วยการถวายอาหารสุขภาพ

ภาพ/ข่าว:มานพ บุตรเนียม

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เชิญชวนประชาชนใส่ใจ ห่วงใยสุขภาพพระสงฆ์ด้วยการถวายอาหารสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม ลดความเสี่ยงจากการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

            นพ.พนัส โสภณพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า การทำบุญตักบาตรเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ประชาชนชาวพุทธศาสนิกชนนิยมทำบุญในช่วงวันสำคัญทางศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคล การทำบุญ รักษาศีล ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา โดยจะเลือกอาหารที่คิดว่าดีที่สุด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีรสหวานจัด เค็มจัด มีไขมันสูง และขนมหวาน รวมทั้งในสภาวะปัจจุบัน ประชาชนมักเลือกอาหารสำเร็จรูปที่หาง่ายตามท้องตลาดเพื่อใส่บาตร ทำให้พระสงฆ์-สามเณร มีภาวะอ้วน เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เช่น ไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน แนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
             จากข้อมูลการตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ของจังหวัดกาญจนบุรี ปี 2561 จำนวน 1,317 รูป ในโครงการ “1 วัด 1 โรงพยาบาล” พบว่า ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 7.38 โรคเบาหวาน ร้อยละ 4.11 โรคอ้วน ร้อยละ 3.69 ไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 2.63 โรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง ร้อยละ 1.47 และไตเสื่อม ร้อยละ 0.73 สาเหตุการเกิดโรคส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่ได้รับจากการบิณฑบาต หรือประชาชนนำมาถวาย ซึ่งมีรสหวาน มัน เค็มเกินไป ส่งผลให้พระสงฆ์ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น
             นพ.พนัส กล่าวต่อไปว่า ปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์ส่วนใหญ่พบภาวะอ้วนลงพุงจากการบริโภคอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ เนื่องจากไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ประกอบกับขาดกิจกรรมบริหารกายด้วยข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ไม่สามารถออกกำลังกายได้มากเหมือนคนปกติ จึงขอแนะนำประชาชนให้ความสำคัญกับการอาหารที่จะถวายพระสงฆ์-สามเณร โดยเลือกเมนูอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม ลดอ้วน ลดพุง ลดโรค เช่น ข้าวกล้อง, ข้าวซ้อมมือ, เนื้อไม่ติดมัน, ปลา, ผักต่างๆ ที่มีใยอาหารช่วยในการขับถ่าย, ผลไม้ที่ไม่มีรสหวาน อาทิ กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง ส้ม แอปเปิ้ล และมะละกอ ในการประกอบอาหารควรใช้วิธีต้ม นึ่ง ย่าง ยำ อบ หรือน้ำพริก หากจำเป็นต้องผัดหรือใช้กะทิควรใช้ในปริมาณน้อย รสชาติอาหารต้องไม่หวานจัด มันจัด และเค็มจัด ลดขนมหวานเพราะมีปริมาณน้ำตาลสูง และควรเลือกนมจืดนมพร่องมันเนย น้ำสมุนไพรสูตรหวานน้อย หรือน้ำเปล่า เป็นต้น เพียงเท่านี้ถือว่าเป็นการสร้างบุญอีกทางหนึ่ง รวมทั้งมีการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์-สามเณร ได้แก่ 1.กิจกรรมบริหารกายแบบแอโรบิค เช่น การเดินบิณฑบาต การเดินจงกรม งานทำความสะอาดโบสถ์ วิหาร กวาดลานวัด งานจัดเตรียมสถานที่ประกอบพิธีสงฆ์ งานก่อสร้าง งานสวน เป็นต้น 2.กิจกรรมบริหารกายแบบใช้แรงต้าน เช่น การดันฝาผนัง การนอนแล้วงอตัวขึ้น การย่อเข่าลุก-นั่งเก้าอี้ เป็นต้น และ 3.กิจกรรมบริหารกายแบบยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เช่น การก้มตัวใช้มือแตะปลายเท้า การยืดกล้ามเนื้อบริเวณลำตัวด้านข้าง และบริเวณไหล่ เป็นต้น

               อีกทั้ง ขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมในวัด ได้แก่ การถวายธูปเทียนไร้ควัน หรือดับธูปทันทีหลังอธิษฐานแล้ว เพื่อลดควันที่มีสารพิษและฝุ่นละอองจากควันธูป การควบคุมสัตว์และแมลงพาหะนำโรคภายในวัดเพื่อป้องกันโรคติดต่อ เช่น โรคพิษสุนัขบ้าจากสุนัขและแมวที่ถูกนำมาปล่อยในวัด ที่สำคัญคือโรคไข้เลือดออก ขอให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยการเก็บขยะ ปัดกวาดลานวัด คว่ำภาชนะที่มีน้ำขังลงโคนต้นไม้ ปิดหรือเปลี่ยนน้ำในภาชนะเก็บน้ำทั่วไปและในห้องน้ำ ปลูกสมุนไพรตะไคร้หอมกันยุง และทายากันยุงก่อนนั่งสมาธิเพื่อป้องกันยุงลายกัด และขอให้ประชาชนดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเอง อย่านำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยที่วัดจะเป็นการสร้างภาระให้วัดในการดูแลเลี้ยงดู สิ่งที่น่าเป็นกังวลเนื่องจากสัตว์ที่ถูกนำมาปล่อยมักจะอายุมาก พิการ ป่วยโรคขี้เรือน ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค จึงอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อพระสงฆ์และญาติโยมที่มาทำบุญได้

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!