กาญจนบุรี-แนะวิธีป้องกันตนเองเบื้องต้น จากภัย PM2.5
ภาพ/ข่าว:รักษพล พุ่มพฤกษ์
อาจารย์สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ ม.มหิดล แนะวิธีป้องกันตนเองเบื้องต้น และวิธีตรวจสอบข้อมูล พร้อมทั้งการเลือกอุปกรณ์ป้องกันตนเอง จาก PM2.5
วันนี้( 21 มกราคม 2563)เวลา 11.00 น.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ) มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้เปิดเผยว่า จากที่มีรายงานดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) เผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ ซึ่งเป็นการรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศในรูปแบบที่ง่ายต่อความเข้าใจของประชาชนทั่วไปเพื่อได้รับทราบถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่ว่าอยู่ในระดับใด มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยหรือไม่ นั้น
สำหรับในส่วนของ พื้นที่ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ความเสี่ยงของบุคลากรและนักศึกษา และประชาชน ในพื้นที่ ในช่วงที่ระดับดัชนีคุณภาพอากาศบ่งชี้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพนั้น จะสามารถเห็นผลกระทบได้อย่างฉับพลัน ให้สังเกตุ จาก อาการเจ็บป่วย เช่น โรคระบบทางเดินหายใจทั่วไป ได้แก่ เจ็บคอ ไอแห้ง จาม หายใจไม่สะดวก ง่วง มึนเหมือนนอนไม่เต็มที่ บุคลากร นักศึกษาหรือประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้แก่ กลุ่มที่เป็นโรคหอบหืด โดยเฉพาะเพศหญิงและเด็กที่มักอ่อนไหวมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ บางคนรุนแรงถึงไอเป็นเลือดก็มีมาแล้ว ความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาว หากไม่มีการแก้ไขปัญหาและปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ต่อเนื่อง ประชาชนจะมีความเสี่ยงต่อโรคที่รุนแรงมากขึ้น ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังต่าง ๆ, โรคหัวใจ, โรคเส้นเลือดในสมองตีบ/แตก รวมถึงความจำเสื่อม, เบาหวาน และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กด้วย โรคภัยเหล่านี้มีรายงานทางวิชาการว่าเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ
คำแนะนำวิธีป้องกันในสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงเกินมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศระดับที่น่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ (แนะนำให้พิจารณาจาก AQI ของไทย มากกว่า 100 หรือ US AQI มากกว่า 150)
1 งดกิจกรรมที่ใช้แรงงานหรือออกกำลังกายภายนอกอาคาร เนื่องจากต้องลดการรับสัมผัสฝุ่นละออง
2. สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจส่วนบุคคลเมื่อออกภายนอกอาคาร ได้แก่ หน้ากากป้องกันฝุ่น ทั้งนี้ N95 เป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด แต่ค่อนข้างราคาสูง อาจเลือกแบบที่ขายในท้องตลาดทั่วไปที่ดูน่าเชื่อถือ โดยพิจารณาเบื้องต้น ดังนี้ 1.) สวมใส่กระชับ ไม่มีรอยรั่วระหว่าง หน้ากากกับผิวหนัง 2.) หายใจสะดวกแต่ควรมีแรงต้านเวลาหายใจบ้าง ส่วนเรื่องการวัดประสิทธิภาพสินค้านั้น ตรวจสอบทันทีได้ยาก
3. ดื่มน้ำมาก ๆ และ รับประทานอาหารที่เสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย เช่น วิตามินซี ในปริมาณที่เหมาะสมเป็นต้น
สำหรับ แหล่งข้อมูลติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ณ เวลาปัจจุบัน บุคลากร นักศึกษา และประชาชนทั่วไป สามารถติดตามข้อมูลเบื้องต้น ได้ที่
1. เว็บไซด์ air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ http://air4thai.pcd.go.ให้ข้อมูลระดับสารมลพิษที่ตรวจวัด ณ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของไทย และแสดงข้อมูลเป็นดัชนีคุณภาพอากาศ AQI ของไทย ซึ่งระดับที่น่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพแนะนำไว้ที่ AQI ไทย > 100
2. AirVisual App ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ให้ข้อมูล US AQI จากการคำนวณโดยพิจารณา ค่า PM2.5 อย่างเดียว ซึ่งระดับ US AQI PM2.5 แนะนำไม่ควรเกิน 150 (ทั้งนี้ AQI ของไทย และ US AQI คำนวณต่างกัน) โดยข้อมูลจาก AirVisual เหมาะสำหรับใช้ประเมินผลกระทบต่อสุขภาพตนเองในระดับเบื้องต้น แต่อาจมีข้อจำกัดการใช้งานข้อมูลด้วย
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/