นครปฐม-แนะพัฒนาศักยภาพสมองด้วย Brain-based Learning
ภาพ/ข่าว:อริย์ธัช พรอัศวโยธิน
ขอบคุณข้อมูล:ฐิติรัตน์ เดชพรหม
ผอ.สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล
แนะพัฒนาศักยภาพสมองด้วย Brain-based Learning
กระบวนการเรียนรู้ เกิดจากการที่สมองรับรู้สิ่งเร้า หรือ ตัวกระตุ้น ผ่านระบบประสาทรับความรู้สึก (Sensory Perception) หรือ 5 อายตนะ อันได้แก่ ตาดู หูฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นรับรส และกายสัมผัส ซึ่งเมื่อประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ จะทำให้เกิดความรู้ ความจำ ความรู้สึกและอารมณ์ จนเกิดปัญญาและจิตตปัญญา สามารถนำไปประยุกต์ในชีวิตประจำวัน และทำงานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้
รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “นวัตกรรมการเรียนรู้” หมายถึง การพัฒนาตัวกระตุ้น หรือสื่อการเรียนรู้ หรือวิธีการเรียนรู้ ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ผ่านระบบประสาทและสมองบทบาทที่สำคัญของ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล คือการผลิตบัณฑิต งานวิจัย และการให้บริการด้านวิชาการและความรู้สู่สังคม สร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้ ตลอดจนพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดปัญญา ภายใต้แนวคิด “รู้จริง รู้นาน รู้สร้างสรรค์สื่อสารได้” ซึ่งศาสตร์หนึ่งที่สถาบันฯ ได้นำมาใช้ในการบริการวิชาการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้พัฒนาศักยภาพตนเอง คือ Brain-Based Learning (BBL) หรือ “การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน”
“สมองซีกซ้ายเป็นสมองแห่งเหตุผล ในขณะที่สมองซีกขวาจะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับจิตใจและความรู้สึกของมนุษย์BBL มีรากฐานมาจาก Cognitive Neuroscience หรือประสาทวิทยาศาสตร์การรู้จำ ซึ่งประกอบด้วยศาสตร์ทางสรีรวิทยาระบบประสาท (Neurophysiology) จิตวิทยาการเรียนรู้ (Psychology of Learning) และประสาทพฤติกรรมศาสตร์ (Neurobehavioral Science) มาผนวกกัน เราใช้วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์และระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยมีครูอาจารย์จากทั่วประเทศเป็นต้นแบบ ถ้าครูของเรารู้ศาสตร์การสอนโดยอาศัยระบบประสาทเป็นฐานในการสอน เราก็จะสามารถทำให้เด็กมีพัฒนาการเรียนรู้ที่เขาถนัดในด้านหนึ่ง และให้เขาพัฒนาอีกด้านหนึ่งให้เก่งขึ้นได้ด้วย ซึ่งจะทำให้เขามีความรอบรู้ (well-rounded)ไม่ใช่ว่าเป็นพวกถนัดสมองซีกซ้าย แต่ใช้ทักษะแบบพวกถนัดสมองซีกขวาไม่เป็น หรือเป็นพวกถนัดสมองซีกขวาแต่ใช้ทักษะแบบพวกถนัดสมองซีกซ้ายไม่ได้ แต่เราจะทำให้คนที่ไม่รู้มิติสัมพันธ์ ได้ฝึกการใช้มิติสัมพันธ์ให้ดีขึ้น ในขณะที่เราจะทำให้คนที่เห็นภาพใหญ่อาศัยความรู้สึก เก่งภาษาและใช้เหตุผลได้ในเวลาเดียวกัน”
“ในการทำเวิร์คชอป BBL จะมีการประเมินลักษณะของผู้เรียนว่าเป็นอย่างไร และจะมีการฝึกเตรียมสมอง ฝึกการประสานของสมองสองซีก เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีที่จะไปนำไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีการใช้ VARK Model ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่ม V = Visual รูปแบบการเรียนรู้ที่สื่อด้วยภาพและสัญลักษณ์กลุ่ม A = Aural / Auditory รูปแบบการเรียนรู้ที่สื่อด้วยเสียง กลุ่ม R = Read / Write รูปแบบการเรียนรู้ที่สื่อด้วยอักษรและข้อความ และกลุ่ม K = Kinesthetic รูปแบบการเรียนรู้ที่สื่อด้วยสัมผัสและการลงมือปฏิบัติ”
“อาหารบำรุงสมองก็เป็นเรื่องสำคัญ หากเราได้รับวิตามินบี-1 บี-6 และ บี-12 วันละ 1-2 เม็ด จะช่วยเร่งการสื่อนำกระแสประสาทได้ดี และควรได้รับวิตามินซีวันละ 100 – 500 มิลลิกรัม เพื่อช่วยในการสร้างคอลลาเจนและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ นอกจากนี้ การฟังดนตรี ยังเป็นอาหารสมองชั้นเลิศอีกด้วย และควรเล่นกีฬา หรือออกกำลังกายเพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายรวมทั้งควรฝึกใช้สมองคิดแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นประจำฝึกคิดเลขในใจ ตลอดจนฝึกจิตโดยใช้หลักอานาปานสติตามลมหายใจเข้า–ออก โดยหายใจเข้า 3 วินาที หายใจออก 4 วินาที เพื่อให้สมองได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้รู้สึกปลอดโปร่ง และเมื่อจิตสงบนิ่งก็จะเกิดสมาธิจิตที่ขุ่นข้องหมองใจซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ก็จะหายไป พอใจสงบแล้ว สมองก็จะพร้อมเปิดกว้างรับสิ่งใหม่ๆ ทำให้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น” รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย กล่าวแนะนำทิ้งท้าย
ศึกษารายละเอียดของ Brain-Based Learning (BBL)เพิ่มเติม และบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับนวัตกรรมการเรียนรู้ได้จากเว็บไซต์ของ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้มหาวิทยาลัยมหิดล www.il.mahidol.ac.th ในหัวข้อ “I-Learning Clinic” หรือ FB : @InnovativeLearning.MU