นครปฐม-ลงนามความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
โดยมหาวิทยาลัยมหิดลกับพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดนครปฐม7แห่ง
ภาพ/ข่าว:สหชล ปานทอง-กชภัส บวรภักดิโชติ / ทีมข่าวเฉพาะกิจ
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลลงนามความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดนครปฐม7แห่งเพื่อพัฒนาพื้นที่เล่นสู่การเรียนรู้ของเด็กผ่านพิพิธภัณฑ์ ที่พิพิธภัณฑ์วัดห้วยตะโก ตำบลพะเนียด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ได้มีการจัดการแถลงข่าว การลงนามความร่วมมือภายใต้โครงการ “นครปฐมเป็นเมืองเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว”โดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับ พิพิธภัณฑ์วัดห้วยตะโก , วู๊ดแลนด์ (woodland) เมืองไม้แฟนตาซี, พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย, ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง),หอภาพยนตร์, พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสำโรง ,พิพิธภัณฑ์วัดมะเกลือ ลงนามความร่วมมือพัฒนาพื้นที่เล่นสู่การเรียนรู้ของเด็กผ่านพิพิธภัณฑ์ ครั้งที่ 1 โดยมี รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เป็นประธานการร่วมลงนาม และมีพระครูยติธรรมานุยุต (อาจารย์แป๊ะ) เจ้าอาวาสวัดสว่างอารมณ์ทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนเข้าสู่พิธีการ
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า การเล่นของเด็กปฐมวัยและวัยเรียนมีความสำคัญ และมีคุณค่ามหาศาล เพราะการเรียนรู้ของเด็กในวัยนี้ที่เหมาะสมคือ คือ “การเรียนรู้ผ่านการเล่น และการเรียนรู้อย่างมีความสุข” งานวิจัยทางการแพทย์ยืนยันว่าการเล่นมีส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาสมอง โดยการเล่นจะกระตุ้นให้มีการเพิ่มขึ้นของการส่งสัญญาณประสาท และเพิ่มการประสานงานระหว่างเซลล์สมองกับการทำงานของร่างกายได้ดีขึ้น การเล่นที่มีสิ่งเกื้อหนุนที่ดี ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ ปัญญา อารมณ์ สังคม และมีวินัย มีการคิดวิเคราะห์ เกิดความคิดสร้างสรรค์ และเรียนรู้การปรับตัว นอกจากนั้นการเล่นยังเป็นส่วนสำคัญของชีวิตครอบครัวและชุมชน การเล่นนำไปสู่การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับคนทุกวัย โดยสมาคมนานาชาติเพื่อสิทธิทางการเล่นของเด็ก (International Play Right Association; IPA) ประกาศ ปฏิญญาเกี่ยวกับสิทธิในการเล่นของเด็ก โดยแสดงถึงความกังวลต่อแนวโน้มน่ากลัวและผลกระทบเชิงลบในการพัฒนาเด็ก เนื่องจากความไม่แยแสของสังคมต่อความสำคัญของการเล่น เน้นการศึกษาทฤษฎีและวิชาการในโรงเรียน รายงานในการประชุม economic forum ปี 2561 พบว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเวลาที่เด็กใช้เล่นลดลงอย่างรวดเร็ว ในสหรัฐอเมริกา พบว่า ร้อยละ56 ของเด็กใช้เวลาเล่นนอกบ้านน้อยกว่าเวลาพักของนักโทษที่ถูกกุมขัง ในประเทศอังกฤษพบว่าเด็กเล่นกลางแจ้งลดลงร้อยละ50 ในหนึ่งช่วงหนึ่งอายุคนที่ผ่านมา
ในส่วนของประเทศไทยเอง ปัจจุบันเด็กๆในเมืองมักมีข้อจำกัดในการเล่น เนื่องจากสภาพแวดล้อมในเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นตึก บ้านเรือน อีกทั้งการจราจรที่ติดขัด มลภาวะทางอากาศ เด็กส่วนมากจึงต้องไปเล่นในห้างสรรพสินค้า สวนสนุก ริมทางเดิน หรือเล่นเกมในบ้านหรือตามร้านเกม สำหรับเด็กในชนบท แม้จะมีพื้นที่และธรรมชาติแวดล้อมบ้าน แต่พบว่ามีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ยังถูกปล่อยปละละเลยให้เล่นตามลำพัง ไม่มีผู้ดูและส่งเสริมการเล่นที่สร้างสรรค์ และยังขาดแคลนอุปกรณ์ในการเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวต่อว่า การขาดแคลนพื้นที่เล่นสู่การเรียนรู้นี้ ย่อมทำให้เด็กขาดโอกาสในการพัฒนาด้านทักษะทางร่างกายการรู้คิด รวมถึงการพัฒนาต้านคุณธรรมและคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ การดำเนินชีวิต การเพิ่มพื้นที่เล่นสู่การเรียนรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก ขณะนี้และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับสมัชชาสุขภาพ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) เร่งสร้างสนามเด็กเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการสมองหรือสนามเด็กเล่นสร้างปัญญากันทั่วประเทศ
นอกจากสนามเด็กเล่นแล้ว พื้นที่เล่นสู่การเรียนรู้ของเด็กและครอบครัวในระดับชุมชนหรือเมืองยังมีอีกหลายรูปแบบ รูปแบบที่สำคัญที่สังคมไทยต้องการการพัฒนาอย่างเร่งด่วนให้เป็นพื้นที่เด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กได้แก่ พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งในทศวรรษหลังนี้มีการเติบโตในระดับชุมชนในอัตราที่สูง พิพิธภัณฑ์จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับเด็กที่จะเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเป็นวัตถุหรือรูปแบบนิทรรศการที่จับต้องได้ เล่นได้ มีชีวิตหรือมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับเด็กได้ สามารถกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจ เกิดจินตนาการ กระตุ้นระบบประสาทการรับรู้ของเด็กแบบหลากหลาย นำไปสู่การพัฒนาสมองและความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก แม้ว่าเด็กจะไม่เข้าใจเนื้อหาที่แสดงเป็นตัวหนังสือได้ทั้งหมด
นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังสามารถช่วยให้เด็ก ๆ ทำความเข้าใจโลกและเริ่มขยายความคิดจินตนาการของเด็กในรูปแบบใหม่และซับซ้อน วัตถุที่เป็นรูปธรรมที่เด็กจับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้แต่สื่อสารกับเด็กมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กได้ด้วยรูปแบบต่างๆจะเป็นรากฐานนำไปสู่การสร้างความเข้าใจหรือแนวคิดในเชิงนามธรรม ตัวอย่างเช่น ค่ายเล่นรอบเมืองของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก มหาวิทยาลัยมหิดลในปีนี้ได้จัดฐานการเรียนรู้เรื่องศีลธรรมกับวัดห้วยตะโก โดยได้สร้างฐานผจญภัยสามโลก กิจกรรมจิ๊กซอปริศนาศีล 5 เชื่อมโยงความถูกผิดสู่โลกนรกสวรรค์ตามโครงสร้างของวัตถุที่จัดแสดงโดยทางวัดที่มีความน่าสนใจสำหรับเด็ก เมื่อพิพิธภัณฑ์มีส่วนร่วมกับเด็กในประสบการณ์และบทสนทนาเหล่านี้ เด็กก็พร้อมที่จะเป็นพลเมืองโลกได้ดีขึ้น
ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์ในประเทศพัฒนาหลายแห่งได้มุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย (แรกเกิด –8ปี) เพิ่มเติมจากเด็กกลุ่มวัยเรียนที่เคยเป็นกลุ่มหลักรวมอยู่กับกลุ่มผู้ใหญ่ โดยมีงานวิจัยสนับสนุนความสำคัญของการเรียนรู้และการพัฒนาสมองในวัยเด็กเล็กนี้ กลุ่มนักการศึกษาปฐมวัยของสถาบันพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนได้ทำการวิจัยและพบว่าพิพิธภัณฑ์ชนิดต่างๆที่เดิมในอดีตเป็นพื้นที่สำหรับผู้ใหญ่ที่สนใจเฉพาะเรื่อง สามารถจัดบริการเพื่อให้เกิดกระบวนการเล่นสู่การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยผ่านพิพิธภัณฑ์ได้ดี แต่ต้องออกแบบและมีผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะช่วงปีแรก ๆ ของเด็กเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาทักษะด้านวิชาการสังคมและการรู้คิดซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของชีวิตในภายหลัง พิพิธภัณฑ์มีส่วนสำคัญที่จะเป็นผู้ร่วมสร้างและสนับสนุนความสำเร็จของอนาคตเด็กๆเหล่านี้ การจัดรูปแบบบริการที่คำนึงถึงผู้เข้าชมที่อายุน้อย จะทำให้พิพิธภัณฑ์พัฒนาสู่การต้อนรับผู้เช้าเยี่ยมชมได้ทุกวัยอย่างมีชีวิต มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างการจัดแสดงและผู้เข้าชมที่สนุกสนานมากขึ้น ดังนั้นการออกแบบเพื่อต้อนรับเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กจึงมีความสำคัญทั้งอนาคตของเด็กเองและอนาคตของพิพิธภัณฑ์ด้วย
ในประเทศไทยระบบฐานข้อมูลของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)ได้รายงานจำนวนพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยในปี 2562 ไว้จำนวน 1430 แห่งโดยเป็นของหน่วยงานราชการ 220 แห่ง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ 42 แห่ง สถานศึกษา 312 แห่ง วัดและชุมชน 373 แห่ง ชุมชน 82 แห่ง มูลนิธิและองค์กรไม่แสวงหากำไร 45 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 127 แห่ง องค์กรธุรกิจ 88 แห่ง ส่วนบุคคล 141 แห่ง พิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินการโดยชุมชนได้มีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น มีการนำแสดงทั้งเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ตัวตนของท้องถิ่นมากขึ้น แต่ยังไม่มีการสำรวจว่ามีจำนวนพิพิธภัณฑ์อยู่เท่าไรที่ถูกออกแบบเพื่อให้เด็กวัยต่างๆรวมทั้งเด็กปฐมวัยสามารถเล่นนำสู่การเรียนรู้ได้
จากความร่วมมือในวันนี้จะนำไปสู่การพัฒนาการเล่นสู่การเรียนรู้ของเด็กทุกวัยผ่านพิพิธภัณฑ์ โดยทางสถาบันและ 7 พิพิธภัณฑ์นี้จะร่วมกันจัดโครงการเล่นรอบเมือง ผจญภัยเมืองนครปฐมในเดือนตุลาคมนี้ และทางสถาบันจะพัฒนาหลักสูตรผู้ส่งเสริมการเล่นเพื่อการเรียนรู้ และหลักสูตรนักออกแบบการเล่น หรือนวัตกรการเล่นซึ่งจะเริ่มเปิดอบรมในต้นปีหน้า เพื่อสร้างผู้ชำนาญการการเล่นและการออกแบบการเล่นเพื่อการเรียนรูของเด็กในระดับชุมชน สอดคล้องกับความต้องการการขยายตัวพื้นที่เล่นของเด็กและครอบครัวของชุมชนทั่วประเทศ