ปทุมธานี-สวทช.ลงนามความร่วมมือกับ อ.ส.ค.จับมือวิจัยโคนมแบบครบวงจร

ปทุมธานี-สวทช.ลงนามความร่วมมือกับ อ.ส.ค.จับมือวิจัยโคนมแบบครบวงจร

ภาพ/ข่าว:อนันต์ วิจิตรประชา

 สวทช.ลงนามความร่วมมือกับ อ.ส.ค.จับมือวิจัยโคนมแบบครบวงจร

            วันที่ 4 ตุลาคม 2562 ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามความร่วมมือกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพัฒนากิจการโคนมแบบครบวงจร หวังยกระดับกิจการโคนมด้วย วทน. เดินหน้าวิจัย นมผงพันธุ์ไทย-นมอัดเม็ดพรีเมี่ยม-ผลิตภัณฑ์จากนมเพื่อผู้สูงวัย เฟสแรก 63-65 พร้อมลุยตลาดต่างประเทศ นำร่องบุกอาเซียนปี 64

          นโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลให้น้ำนมดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพดีขึ้น โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดการณ์ว่า ปี 2562 นี้ ความต้องการบริโภคนมจะเพิ่มขึ้น จากการที่หลายภาคส่วนร่วมกันรณรงค์การบริโภคนมของประชาชนในประเทศ โดยในปี 2562 คาดว่า มีปริมาณการบริโภค 1,332,180 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 8% จาก 1,233,483 ตัน ของปี 2561 ในขณะเดียวกัน การส่งออก – การนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการในตลาดนมพาณิชย์มีการผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการร่วมมือกันสนับสนุนการขยายตลาดส่งออกนมสู่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากขึ้น

            ด้าน ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า ในฐานะที่ อ.ส.ค. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีพันธกิจหลักในการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมให้เป็นอาชีพแก่เกษตรกรไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน พัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมนมให้ครบวงจรและมีมูลค่าเพิ่ม การสร้างความรู้ด้านกิจการโคนมและอุตสาหกรรมนม และมุ่งบริหารจัดการองค์กรให้เป็นองค์กรที่มีขีดสมรรถนะ (HPO) ด้วยหลักธรรมาภิบาล จากภารกิจดังกล่าว อ.ส.ค. จึงได้มีการดำเนินแนวทางแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยการพัฒนาประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนมเพื่อให้ได้น้ำนมที่ดีมีคุณภาพสูงและได้มาตรฐาน พร้อมแข่งขันกับตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบอาเซียน ตลอดจนการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมโคนมโดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมทั้งระบบ เพื่อพัฒนาในการเลี้ยงโคนม ระบบฟาร์ม การคัดเลือกสายพันธุ์ การพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบ ตลอดทั้งอุตสาหกรรมโคนมทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

              ปัจจุบัน อ.ส.ค. มีการนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง (Thai-Denmark Smart Dairy Farm) ของ อ.ส.ค. ในวงเงินไม่ต่ำกว่า 55.9 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งฟาร์มโคนมสาธิตเชิงธุรกิจประสิทธิภาพสูง หรือ “Smart Farm” มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้ง Hardware และ Software เข้ามาช่วย อ.ส.ค. จะดำเนินการขยายผลการวิจัยที่ได้นำมาพัฒนาแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนากิจการโคนมแบบครบวงจรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดทั้งการพัฒนาฐานข้อมูลและการนำองค์ความรู้และผลงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสอดรับกลยุทธ์การตลาดของ อ.ส.ค. ตามแผนรัฐวิสาหกิจระยะ 5 ปี (2560-2564) ในการขับเคลื่อนและผลักดันผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ก้าวสู่แบรนด์นมแห่งชาติและเป็นผู้นำอุตสาหกรรมไทยในอาเซียน

               ส่วน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากิจการโคนมไทยระหว่าง สวทช. โดยนาโนเทค และ อสค. นับเป็นการตอบยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ทั้งยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ที่ครอบคลุมเกษตรชีวภาพ เกษตรอัจฉริยะ เกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมชีวภาพ และยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวกับการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเศรษฐกิจฐานชีวภาพ พัฒนาความมั่นคงด้านการเกษตรและอาหารของประเทศและชุมชน สอดคล้องกับ BCG Model ที่มุ่งจะนำประเทศไปสู่การเป็นผู้นำการผลิตอาหารคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับทุกภูมิภาคของประเทศ ศักยภาพของ สวทช. ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์งานด้านอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์และการบริหารจัดการพืชและสัตว์ โรงเรือนและระบบควบคุมที่สามารถปรับสภาพแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม การตรวจวินิจฉัยโรคในพืชและสัตว์ โมเดลการจัดการเพาะปลูกพืช และทำนายผลผลิต รวมไปถึงนวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การพัฒนาสารกลุ่ม functional ingredient อาหารปลอดภัย การตรวจสอบย้อนกลับ กระบวนการผลิตอาหารแบบขั้นสูงโดยใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data analytics) จนถึงบรรจุภัณฑ์อาหารอัจฉริยะ (smart packaging)

                   ทางด้าน ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวว่า นาโนเทค สวทช. มีขีดความสามารถในการนำงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรหลากหลายรูปแบบ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ จะตอบความต้องการอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีการกักเก็บในระดับนาโน หรือ นาโนเอ็นแคปซูลเลชั่น (Nano Encapsulation Technology) ที่จะเป็นเทคโนโลยีหลักในการความร่วมมือครั้งนี้ หลังจากการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ นาโนเทคเตรียมงานวิจัยที่จะตอบโจทย์สร้างนวัตกรรมกลุ่มควิก-วิน (Quick-Win) สำหรับความร่วมมือในระยะที่ 1 ปีพ.ศ. 2563-2565 ทั้งกลุ่มนมอัดเม็ดพรีเมี่ยม, นมผง และผลิตภัณฑ์จากนมเพื่อผู้สูงอายุ โดยจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนาโนการกักเก็บในระดับนาโน ที่นาโนเทคมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญตอบความต้องการกลุ่มควิก-วินได้.

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!