ประจวบคีรีขันธ์-ธกส.เข้าตรวจสอบสวนปาล์มน้ำมันเกษตรกรเตรียมให้เงินช่วยเหลือประกัน

ประจวบคีรีขันธ์-ธกส.เข้าตรวจสอบสวนปาล์มน้ำมันเกษตรกรเตรียมให้เงินช่วยเหลือประกัน

ภาพ/ข่าว:เอกภพ วงษ์ประเสริฐ(นักข่าวบ้านนอก)

ธกส.เข้าตรวจสอบสวนปาล์มน้ำมันเกษตรกรเตรียมให้เงินช่วยเหลือประกันราคา กก.ละ 4 บาทแล้ว

          วันที่ 27 กันยายน 62 นายยุวพล วัตถุ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาภาคตะวันตก พร้อมด้วย พันเอก กรกานต์ นาเวชวนิชกุล รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ( ผอ.รมน.)จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และคณะเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ได้เข้าตรวจสอบสวนปาล์มน้ำมันของเกษตรกรในพื้นที่เขตอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรองรับการช่วยเหลือการประกันราคาปาล์มจากรัฐบาลในต้นเดือนตุลาคมนี้
           นายสำเริง อุ่นยวง เกษตรกรชาวสวนปาล์ม ตำบลอ่าวน้อย อ.เมืองประจวบฯ เปิดเผยว่า ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่เก็บเกี่ยวแล้ว ต้องส่งเข้าโรงงานอย่างเดียว เกษตรกรไม่สามารถนำไปแปรรู้ได้เหมือนพืชชนิดอื่น ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาวิกฤติ เพราะปาล์มน้ำมันยังมีราคาตกต่ำมาก ปัจจุบันกิโลกรัมละ 2.80 บาท ไม่คุ้มกับค่าปุ๋ยที่ต้องใส่ปีละ 3 ครั้ง ค่าแรงงานตัดปาล์ม ค่าบรรทุกไปส่งโรงงาน รวมต้นทุนอยู่ที่ กิโลกรัมละ 3 บาท ทำให้เกษตรกรขาดทุนไม่มีเงินจะส่งดอกเบี้ยธนาคาร จึงอยากให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือเกษตรกร
          นายยุวพล วัตถุ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาภาคตะวันตก เปิดเผยว่า รัฐบาลมีมาตรการประกันรายได้ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันให้กับพี่น้องชาวสวนปาล์มที่กิโลกรัมละ 4 บาท คุณภาพน้ำมันที่ 18 เปอร์เซ็นต์ คนที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่มีอายุปลูกตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ไร่ โดยเกษตรกรถ้าเป็นรายเดิมเพียงแต่ไปปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และผู้ปลูกปาล์มรายใหม่ต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ปลูกปาล์มกับเกษตรอำเภอ ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรกำลังจัดส่งข้อมูลผู้ปลูกปาล์มให้ ธ.ก.ส.โดย ธกส.จะเริ่มจ่ายงวดแรกในวันที่ 1 ตุลาคมที่จะถึงนี้ และจะทยอยจ่ายทุก 45 วัน ด้วยการโอนเงินให้ชาวสวนปาล์มเข้าบัญชีที่เปิดไว้กับธนาคาร ธกส.โดยตรง ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่า เมื่อมีโครงการประกันรายได้จะช่วยลดปัญหาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรได้ส่วนหนึ่ง และการประกันราคาจะทำให้ราคาปาล์มน้ำมันขยับสูงขึ้นต่อไป
           นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรนำเอากากทะลายปาล์มที่เหลือจากโรงงานไปเป็นวัสดุกับมูลสัตว์ในการทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพเพื่อลดต้นทุนในการผลิตปาล์มน้ำมันอีกด้วย

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!