ประจวบคีรีขันธ์- วิบากกรรมของคนทำไร่ ใกล้กับช้างป่ากุยบุรี
ภาพ/ข่าว:พันธุ์พงษ์ โพธิ์จินดา
รายงานพิเศษ วิบากกรรมของคนทำไร่ ใกล้กับช้างป่ากุยบุรี
ช้างป่ากุยบุรี เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ มีนักท่องเที่ยวหลายๆคน รวมทั้งชาวต่างชาติ ต่างอยากมาเที่ยวชมช้างป่ากุยบุรี ซาฟารีเมืองไทย ต้องยอมรับว่า เมื่อมีช้างป่ากุยบุรี ก็มีการสร้างรายได้ทางด้านการท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน โดยเฉพาะชาวบ้านรวมไทยส่วนหนึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวได้ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ต้องไม่ลืมว่า ชาวบ้านรวมไทย และบ้านอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียง มีอาชีพเกษตรกรรมเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพื้นที่เกษตรกรรมที่ทำในปัจจุบันก็อยู่ติดกับเขตป่าไม้และเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งก็มีปัญหาช้างป่าบุกทำลายพืชไร่อยู่เป็นประจำ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ ดีกว่าที่อื่นหน่อยตรงที่ว่า ทั้งสองฝ่ายไม่รุกรานกันจนถึงขั้นเสียชีวิต(เฉพาะพื้นที่อำเภอกุยบุรี) ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเป็นผู้ถูกบุกรุก ถูกระรานเสียมากกว่า
การที่ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม เมื่อมีช้างป่าลงมาบุกกินพืชที่ลงทุนลงแรงปลูกเอาไว้ ก็ต้องมีการป้องกัน ในช่วงแรกๆ มีการใช้รั้วไฟฟ้าแรงต่ำ ที่ใช้สำหรับการปศุสัตว์ หรือส่วนใหญ่ใช้ล้อมคอกวัว แพะ แกะ ซึ่งก็ใช้การได้ในระยะแรกๆเท่านั้น ต้องยอมรับว่า ช้างเป็นสัตว์ที่ฉลาด เมื่อถูกปิดกั้นด้วยรั้วไฟฟ้า ก็มีวิธีทำลายรั้วได้สารพัด ทั้งการเดินชนเอาดื้อๆ ทั้งการหักกิ่งไม้โยนใส่ลวดที่กั้นจนขาด การถอนเสาที่ขึงลวดออก ทำให้ชาวบ้านต้องใช้วิธีมานอนเฝ้าไร่ควบคู่กับการกั้นรั้วไฟฟ้าไปด้วย ซึ่งจากการได้พูดคุยกับชาวบ้านรวมไทยหลายคนบอกว่า กลางคืนจะมีโอกาสนอนเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น เพราะต้องคอยจุดปะทัดไล่ฝูงช้างที่เข้ามา หากคืนไหนเผลอหลับยาวไปหน่อย พืชไร่ก็จะถูกทำลายเสียหายทันที การที่ต้องอดนอนทุกคืน ทำให้ร่างกายอ่อนแอลงโดยไม่รู้ตัว ซึ่งวันนี้ได้มีตัวอย่างให้เห็นแล้ว ว่าการอดหลับอดนอนนานๆจนเป็นปี ทำให้ร่างกายอ่อนแอลงโดยไม่รู้ตัว หรือกว่าจะรู้ก็สายไปเสียแล้ว
นายสุพล จามจุรี วัย 57 ปี เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่มีอาชีพเกษตรกรรมมาตั้งแต่กำเนิด เป็นชาวบ้านรวมไทยรุ่น 2 ต่อจากพ่อ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มากว่า 40 ปี มีครอบครัวโดยแต่งงานกับนางบุญเกิด จามจุรี จนมีบุตรสาว จำนวน 2 คน คนโตมีครอบครัวไปแล้ว ส่วนคนเล็กยังศึกษาอยู่ที่เพชรบุรี นายสุพลนั้นจากคนที่ออกกำลังทำงานหนัก ไม่เคยเจ็บป่วยถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล และเมื่อมีช้างป่าออกมาบุกกินพืชไร่ ก็ต้องย้ายตัวเองเข้าไปอาศัยกินนอนอยู่ในไร่ มีเวลาพักผ่อนน้อยมาก จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นหลายๆปี อยู่ๆกลางดึกวันที่ 22 มกราคม 63 ที่ผ่านมา นายสุพลมีอาการจุกและเป็นตะคริวที่ท้อง จากนั้นก็แน่นิ่งไป ญาติๆต้องเร่งพาส่งโรงพยาบาล แต่อนิจจา นายสุพลเสียชีวิตไปก่อนแล้ว ซึ่งญาติๆรวมทั้งชาวบ้านร่วมอาชีพเดียวกัน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปกตินายสุพลเป็นคนแข็งแรง ไม่เคยเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล ครั้งนี้ที่นายสุพลเสียชีวิต น่าจะมาจากที่มีการพักผ่อนไม่เพียงพอ
ซึ่งมีหลายคนที่มาให้ข้อมูลสนับสนุนในเรื่องนี้ รวมทั้ง นางบุญเกิด จามจุรี ภรรยาของนายสุพล และเพื่อนบ้านข้างเคียง ได้มาให้ข้อมูลกับทางทีมงานว่า พวกตนพอตกตอนเย็นต้องเตรียมตัวออกไปเฝ้าไร่ เพื่อคอยไล่ช้างไม่ให้เข้าบุกกินพืชไร่ ซึ่งช้างป่าจะลงมาก็ตอนช่วงเย็นใกล้มืด ถ้าโดนไล่ออกไป ก็จะมาลงอีกทีก็ตอนดึกประมาณหลังเที่ยงคืนไปแล้ว เพราะช้างจะกลับเข้าป่าไปนอนพักตอนใกล้ตีห้า ซึ่งช้างป่ายังมีเวลาพัก แต่คนไม่สามารถพักผ่อนได้ ตอนเช้ากลับเข้าบ้านทำงานบ้านก็เตรียมตัวไปทำไร่ต่อ มีเวลางีบนอนช่วงกลางวันก็ไม่มาก หรือบางคนก็นอนไม่หลับเลย ถ้าจะหลับได้ก็หมายถึงว่าอดนอนเต็มที่จริงๆทนไม่ไหว แต่ก็พักได้เพียงนิดหน่อยเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเชื่อว่า เรื่องเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่ง(ซึ่งไม่ใช่สาเหตุทั้งหมด)ที่ทำให้นายสุพลเสียชีวิต สอบถามนางบุญเกิด ที่เพิ่งสูญเสียสามีไปอย่างไม่มีวันกลับ และไม่ทันได้กล่าวลา ว่าต่อจากนี้จะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร ในเมื่อขาดเสาหลักของครอบครัวไปแล้ว นางบุญเกิดตอบในทันทีว่า ยังไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป แต่พืชผลในไร่นั้นคงต้องปล่อยทิ้งอย่างเดียว เพราะตนเองคงไม่กล้าที่จะไปเฝ้าคอยไล่ช้าง ซึ่งบางคืนลงมามากมาย คงจะสู้ไม่ไหวเป็นแน่
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/