ประจวบคีรีขันธ์-เร่งเดินหน้าแก้ปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ
ภาพ/ข่าว:พันธุ์พงษ์ โพธิ์จินดา
เร่งเดินหน้าแก้ปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ณ สำนักงาน ส.ส.พรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ บ้านหนองเสือ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหามะพร้าวและสับปะรด โดยนายวิชิต ปลั่งศรีสกุล, นายพีระ สุกิจปาณีนิจ, นายอานนท์ โลดทนงค์, พร้อมที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการฯ นายพรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 2 ได้ร่วมประชุมกับส่วนราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และองค์กรเอกชน ในเรื่องของการเร่งแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ
โดยมี นายประสพชัย พูลเกิด พาณิชย์จังหวัด,นางสาวอารยา ไสลเพชร อุตสาหกรรมจังหวัด, น.ส.ธิดารัตน์ สุดสวาสดิ์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต(ตัวแทนเกษตรจังหวัด), นายประเสริฐ จันวิชัย หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรจังหวัด, นายสุรัตน์ มุนินทรวงศ์ นายกสมาคมชาวไร่สับปะรดไทย, นายณัชนนท์ อนุรักษ์วงศ์ศรี ประธานสหกรณ์ชาวไร่สับปะรดสามร้อยยอด, นางปราณี สุกิจปราณีนิจ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลไร่เก่า, นายพนม อัตตนาถ จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี, นายดิเรก จอมทอง ผู้ประสานงานคณะอนุกรรมาธิการฯ พร้อมผู้เกี่ยวข้องรวมกว่า 20 คนเข้าร่วมในการประชุม
ภายหลังการประชุมกว่า 2 ชั่วโมง นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล ประธานที่ประชุม และนายพรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีปริมาณผลผลิตมะพร้าวและสับปะรดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ข้อมูลและความคิดเห็นจากหลายฝ่ายที่มาร่วมประชุมในวันนี้ ทั้งจากพาณิชย์จังหวัด ที่ให้ข้อมูลแนวโน้มการบริโภค-การตลาดในและต่างประเทศ , สำนักงานสภาฯ และเกษตรจังหวัด ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรกรผู้ปลูก การพัฒนาพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่และการควบคุมคุณภาพให้มีมาตรฐาน การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูก , อุตสาหกรรมจังหวัด ให้แนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตจากสับปะรด การสร้างแอพพลิเคชั่นเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกกับโรงงานแปรรูป , กลุ่มสมาคม-สหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรด เสนอแนวทางการควบคุมหรือจัดโซนนิ่งพื้นที่การปลูกและกำหนดการซื้อขายล่วงหน้าแบบมีพันธะสัญญาระหว่างกัน
ซึ่งข้อมูลจากทุกภาคส่วนเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกันได้ในทุกมิติ ไม่เพียงจะเป็นประโยชน์ต่อจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่คณะอนุกรรมาธิการฯ จะสรุปแยกเป็นประเด็นปัญหาและแนวทางการแก้ไข ตั้งแต่ต้นน้ำ(เกษตรกรผู้ปลูก) กลางน้ำ(โรงงานแปรรูป) และปลายน้ำ(บริษัทผู้จำหน่าย) จากนั้นนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎรคณะใหญ่ เพื่อวางกรอบการพิจารณาศึกษาปัญหาเรื่องมะพร้าวและสับปะรดทั้งระบบแบบยั่งยืนในระดับประเทศ ต่อไป
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/