ปราจีนบุรี-ครั้งแรกกบินทร์บุรี จัดฟื้นฟูประเพณีแห่ปราสาทผึ้งหลังออกพรรษา!!
ภาพ/ข่าว:มานิตย์ สนับบุญ/ทองสุข สิงห์พิมพ์
ครั้งแรกกบินทร์บุรี จัดฟื้นฟูประเพณีแห่ปราสาทผึ้งหลังออกพรรษา!!
วันนี้ 13 ต.ค.62 ที่วัดท่าอุดมสมบูรณาราม ต.นาแขม อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผวจ.ปราจีนบุรี เป็นประธาน เปิดงาน แห่ปราสาทผึ้ง ครั้งที่ 1โดยได้รับการสนับสนุนจากสภาวัฒนธรรมปราจีนบุรี และ อ.กบินทร์บุรี,องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( อปท.) , โดย มี นางบังอร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี (อบจ.) และ ส่วนราชการร่วมกิจกรรม
นายวัลลภ ประวัติวงค์ นายอำเภอกบินทร์บุรี เปิดเผยว่า อำเภอกบินทร์บุรี ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลนาแขม(อบต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและ สภาวัฒนธรรมอำเภอกบินทร์บุรี กำหนดจัดประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง ครั้งที่ 1 และ เป็นครั้งแรก ประจำปี 2562 ในวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2562 เวลา 13.30 น. เคลื่อนขบวนแห่จากหน้าเครือสหพัฒน์ฯ ไป ณ วัดท่าอุดมสมบูรณาราม ต.นาแขม อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
เพื่อส่งเสริม และอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามของชาวอำเภอกบินทร์บุรี รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวในตำบลนาแขม โดยทุกท่านที่แวะเยี่ยมเยียนจะได้ชมขบวนแห่พร้อมปราสาทผึ้ง และการประกวดขบวนแห่และปราสาทผึ้ง พร้อมการแสดงจากชาวอำเภอกบินทร์บุรี จำนวน 100 คน
การแสดงของตำบลนาแขม จำนวน 50 คน และนักเรียนโรงเรียนบ้านท่าอุดม ในกิจกรรมมีการประกวดการทำปราสาทผึ้ง โดยหมู่บ้านที่ชนะเลิศได้แก่ ม.10บ.โนนเกาะลอ ต.นาแขม ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดนายอาคม เรืองหนองยาง ผญ.ม.10 กล่าวว่ารู้สึกภูมิใจที่ชนะเลิศในการประกวด ทุกคนได้ช่วยกันทำอย่างเต็มที่ถ้าปีหน้ามีกิจกรรมอีกจะร่วมกิจกรรมอีกครั้งหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม การแห่ปราสาทผึ้ง ตำนานของการทำปราสาทผึ้ง มาจากคติที่เชื่อว่าเป็นการทำบุญเพื่อให้ได้ไปเกิดในภพหน้า เช่น การไปเกิดในสวรรค์ก็จะมีปราสาทอันสวยงาม แวดล้อมด้วยนางฟ้าเป็นบริวาร ถ้าเกิดใหม่ในโลกมนุษย์จะมีแต่ความมั่งมีศรีสุข แต่ปัจจุบันคนอีสานถือว่าประเพณีนี้เป็นการร่วมงานบุญบนความรื่นเริงอันยิ่งใหญ่ในรอบปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ว่างจากงาน
และตามตำนานอีกเรื่องหนึ่งมีว่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาเป็นปีที่ 7 บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประทับที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ทรงแสดงอภิธรรมปฏิกรณ์แก่พุทธมารดา เป็นการตอบแทนพระคุณจนกระทั่งบรรลุถึงโสดาบัน ครั้นถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวัน “มหาปวารณาออกพรรษา พระพุทธเจ้ากำหนดเสด็จสู่เมืองมนุษย์ พระอินทร์จึงเนรมิตบันได 3 ชนิด คือบันไดทองคำ อยู่เบื้องขวา สำหรับทวยเทพเทวดาลงบันไดเงิน อยู่เบื้องซ้าย สำหรับพระพรหมลงบันไดแก้วมณี อยู่ตรงกลาง เพื่อให้พระพุทธองค์เสด็จเชิงบังไดทั้ง 3 นี้ ตั้งอยู่ที่ประตูเมืองสังกัสสนครในโลกมนุษย์ หัวบันไดอยู่ที่เขาสิเนคุราช บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก่อนเสด็จลงพระพุทธเจ้าประทับยืนบนบอดเขาสิเนรุราช ทำ “โลกนิวรณ์ปาฏิหาริย์”
โดยทรงแลดูเบื้องบนปรากฏมีเนินเป็นอันเดียวกันถึงพรหมโลก ทรงแลดูข้างล่างก็ปรากฏมีเนินเป็นอันเดียวกันถึงอเวจีนคร ทรงแลดูรอบทิศจักรวาลหลายแสน ก็ปรากฏเนินอันเดียวกัน (สวรรค์ มนุษย์ และนคร ต่างมองเห็นกัน) ซึ่งเรียกวันนี้ว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก”
ครั้นแล้วพระพุทธองค์เสด็จลงทางบันไดแก้วมณี ท้าวมหาพรหมกั้นเศวตฉัตร บรรดาเทวดาลงบันไดทองคำทางช่องขวา มหาพรหมลงทางบันไดเงินเบื้องซ้าย มีมาตุลีเทพบุตรถือดอกไม้ของหอมติดตาม ครั้นเสด็จถึงประตูเมืองสังกัสสนครทรงประทับพระบาทเบื้องขวาลงก่อน นาค มนุษย์ และนรก ต่างชื่นชมปลื้มปิติในพระพุทธบารมี เกิดเลื่อมใสในบุญกุศลจนเกิดจินตนาการ เห็นปราสาทสวยงามใคร่จะไปอยู่
จึงรู้ชัดว่าการที่จะได้ไปอยู่ปราสาทอันสวยงามนั้นต้องสร้างบุญกุศล ประพฤติปฏิบัติอยู่ในหลักศีลธรรมอันดี ทำบุญตักบาตร สร้างปราสาทกองบุญนั้นในเมืองมนุษย์เสียก่อนจึงจะไปได้ จากนั้นเป็นต้นมาผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงพากันคิดสร้างสรรค์ทำบุญปราสาทให้มีรูปร่างเหมือนวิมานบนสวรรค์ มีลวดลายวิจิตรสวยงามตามยุคตามสมัยสืบ
ต่อมา บางแห่งก็ถือว่าสร้างปราสาทผึ้งสำหรับรับเสด็จพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จมายังโลกมนุษย์ไปสู่ที่ประทับ เหตุที่มีการนำเอาขี้ผึ้งมาทำเป็นปราสาทนั้น สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาลเช่นเดียวกันซึ่งในหนังสือธรรมบทภาค 1 กล่าวว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาที่ดงไม้สาละใหญ่ ที่ป่ารักขิตวัน ใกล้บ้านปาลิไลยก์ในพรรษาที่ 9 โดยช้างปาลิไลยก์กับลิงเป็นผู้อุปัฏฐาก ไม่มีมนุษย์อยู่เลยตลอด 3 เดือน
ช้างจัดน้ำและผลไม้มาถวาย ส่วนลิงหารวงผึ้งมาถวาย เมื่อพระองค์ทรงรับแล้วเสวยลิงเห็นก็ดีใจมากไปจับกิ่งไม้เขย่าด้วยความดีใจ บังเอิญกิ่งไม้หักลิงนั้นตกลงมาถูกตอเสียบอกตาย และได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรบนปราสาทวิมานสูง 30 โยชน์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ครั้นถึงวันมหาปวารณาออกพรรษา พระพุทธเจ้าตรัสลาช้างแล้ว เสด็จเข้าสู่เมืองโกสัมพี ต่อไป ช้างคิดถึงพระพุทธเจ้ามากจนหัวใจแตกสลาย ไปเกิดบนปราสาทวิมานสูง 30 โยชน์ พระพุทธเจ้าทรงนึกถึงคุณความดีของช้างและลิง จึงทรงนำเอารวงผึ้งมาทำเป็นดอกประดับในโครงปราสาทตามจินตนาการ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ช้างและลิง
ในกาลต่อมา ชาวพุทธจึงได้ถือเป็นแนวทางจัดสร้างปราสาทผึ้ง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและสร้างกุศลสืบมา โดยถือเอาวันออกพรรษาเป็นวันประเพณีถวายปราสาทผึ้ง ปัจจุบันประเพณีถวายปราสาทผึ้ง ยังมีอยู่ในภาคอีสานหลาย โดยจัดขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/