ปิดคลองด่าน เพื่อปกปิดคนผิด “หรือ” เพื่อหาคนผิด?
เปิดปมปริศนา “คลองด่าน”
เผยความลับ”ที่ซ่อนเงื่อนงำ”
ปิดคลองด่าน เพื่อปกปิดคนผิด “หรือ” เพื่อหาคนผิด?
“..อยากจะถามว่า ถ้าปล่อยให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไปจนจบ แล้วโครงการไม่สามารถทำงานได้จริง จะเกิดอะไรขึ้น? คำตอบคือ จะมีคนผิดอีกมากมาย มีนักการเมืองระดับรัฐมนตรี 3 คน นักการเมืองท้องถิ่น 3 คน อดีตข้าราชการประจำระดับ 10 จำนวน 2 คน ข้าราชปัจจุบัน 20 คน และบริษัทเอกชน เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตที่เกิดขึ้น ..มีโอกาสโดนยึดทรัพย์ เดินเข้าคุกฐานทุจริตกันเป็นแถว..”
โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เป็นบ่อบำบัดน้ำเสียรวมแห่งแรกของประเทศไทย อีกทั้งยังมีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้ระยะเวลาในการดำเนินงาน 6 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2541 โดยงบประมาณส่วนใหญ่คือ 22,950 ล้านบาท หรือประมาณ 97 เปอร์เซ็นต์ถูกใช้เป็นค่าก่อสร้างรวมจ้างการออกแบบ ทำสัญญาแบบ turnkey ที่ให้เอกชนเพียงรายเดียวเป็นผู้ดำเนินงานทั้งหมด
ตั้งแต่ออกแบบ ก่อสร้าง ทดลองระบบ รวมทั้งการจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ รวมทั้งที่ดิน ซึ่งเอกชนที่ได้รับงานนี้คือกลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้า NVPSKG ที่ล้วนเป็นกลุ่มเครือญาติ หรือเป็นของนักการเมืองระดับรัฐมนตรีในเวลานั้นหลายคน
กล่าวได้ว่าเป็นทุจริตเชิงโยบายที่ใหญ่ที่สุด จะเห็นได้จากความสามารถที่ปั่นให้ตัวเลขงบประมาณการก่อสร้างจาก 13,000 กว่าล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 23,000 ล้านบาท ในเวลาอันรวดเร็ว
จากรายงานเรื่องการตรวจสอบทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ หนึ่ง การทุจริตจัดซื้อที่ดิน กับการทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย
แต่ การแถลงข่าวของ ป.ป.ช. ขณะนั้น มุ่งไปที่ ทุจริตที่ดินประเด็นเดียว !!? โดยมี นายวัฒนา อัศวเหม เป็นผู้รับกรรม??
และน่าแปลกใจที่ การทุจริตโครงการก่อสร้าง ไม่มีการลงลึกไปตรวจสอบ และถูกแฉให้สังคมได้รับทราบ ทั้งๆ ที่ได้จ่ายเงินไปอย่างมหาศาล ราคาค่าก่อสร้างมากกว่าเรื่องที่ดินหลายเท่าตัว
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่พูดคุยกับอดีตแกนนำคัดค้านรุ่นใหญ่ ได้หอบเอกสารที่ตนศึกษามาร่วม 20 ปีชี้ให้ดูว่า “ถ้าดูตามแปลนก่อสร้างที่เซ็นสัญญากันไว้ มันสร้างไม่ครบ ไม่ตรงตามสเป็ค มันจะส่งมอบงานกันยังไงว๊ะ”
จากผลการสอบสวนเป็นที่ประจักษ์ชัดมากขึ้น โดยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมาธิการชุดแล้วชุดเล่า ถูกสรุปในทิศทางที่สอดคล้องกันแล้วว่า โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านเต็มไปด้วยการทุจริตในทุกขั้นตอน
นั่นคือยังมีคนทุจริต คนโกงอีกมากมายที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบ!!!
หากย้อนไปในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 หลังจากแต่งตั้งคณะทำงาน 3 ชุดเพื่อตรวจสอบและทบทวนโครงการ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมว.ทส. ก็มีคำสั่งระงับการก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โดยให้เหตุผลว่า สัญญาที่กรมควบคุมมลพิษทำกับกลุ่มกินการร่วมค้า NVPSKG นั้นบกพร่องตั้งแต่ต้น จากการที่กรมควบคุมมลพิษเข้าใจผิดในคู่สัญญาว่ามีบริษัทนอร์ธเวสวอเตอร์อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีความเชี่ยวชาญในการวางระบบบำบัดน้ำเสียเข้าร่วมดำเนินการด้วย ทั้งที่บริษัทนี้ได้ถอนตัวก่อนทำสัญญาแล้ว
ตัวจริงถอนตัวออกไป ปล่อยให้มือสมัครเล่น ทดลองงานก่อสร้างเองว่างั้นเถอะ!!
นั่นคือบริษัทกิจการร่วมค้า NVPSKG ลงนามในสัญญา แต่บริษัท N คือ บริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่มีประสบการณ์ในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียมาก่อนตามทีโออาร์ ถอนตัวออกไปดื้อๆ เชื่อว่าคงมีปัญหาอะไรกันสักอย่าง
ที่เหลือก็เป็นกลุ่มบริษัทเอนวีพีเอสเคจี ที่เดินหน้าก่อสร้างตามสัญญา แต่ในความเป็นจริงขาด บริษัท N ซึ่งบริษัทที่เหลือ ต้องมากบารมีแน่นอน เพราะผิดเงื่อนไขก็ยังเซ็นสัญญาได้ คือ
V – บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เป็นของตระกูลชวนะนันท์
P – บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด (ชื่อขณะนั้น ก่อตั้งโดยนายวิศว์ บิดาของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในเวลานั้น
S – บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด ผู้ก่อตั้งคือนายบรรหาร ศิลปะอาชา
K – บริษัท กรุงธน เอนจิเนียร์ จำกัด เป็นบริษัทในเครือของวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง
G – บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนต์ จำกัด
เป็นที่ทราบกันว่า บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บริษัทสี่แสงการโยธา จำกัด, บริษัทกรุงธนเอ็นจิเนียร์ จำกัด และบริษัทประยูรวิศการช่าง จำกัด ได้ชื่อว่าเป็น “สี่เสือกรมทางหลวง” เพราะเติบโตมากับการรับเหมาก่อสร้างทางหลวงทั่วประเทศ
สรุปคือ บริษัทที่ก่อสร้างไม่ได้มีความชำนาญหรือมีประสบการณ์ก่อสร้างด้านนี้มาก่อนเลย ปมปัญหาคือ สร้างสะเปะสะปะหรือเปล่า? สร้างแล้วเหมือนของเด็กเล่น ใช้งานไม่ได้จริงหรือเปล่า? จึงตัดสินใจปิดโครงการ!!!
ต้องไม่ลืมว่า ผลการตรวจสอบระบุชัดว่า การก่อสร้าง การจัดซื้อจัดจ้าง มีการทำผิดกฏระเบียบราชการทุกขั้นตอน มีการทุจริตทุกขั้นตอน .. แล้วจะได้งานที่ดีได้อย่างไร?
วันนี้หลักฐานเริ่มปรากฏออกมาชัดแล้วว่า โครงสร้างการก่อสร้างไม่มีมาตรฐาน เกิดการร้าว เครื่องจักรก็ไม่รู้ว่าจะได้มาตรฐานจริงหรือไม่?
อยากจะถามว่า ถ้าปล่อยให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไปจนจบ แล้วโครงการไม่สามารถทำงานได้จริง จะเกิดอะไรขึ้น?
คำตอบคือ จะมีคนผิดอีกมากมาย มีนักการเมืองระดับรัฐมนตรี 3 คน นักการเมืองท้องถิ่น 3 คน อดีตข้าราชการประจำระดับ 10 จำนวน 2 คน ข้าราชปัจจุบัน 20 คน และบริษัทเอกชน เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตที่เกิดขึ้น ..มีโอกาสโดนยึดทรัพย์ เดินเข้าคุกฐานทุจริตกันเป็นแถว
น่าแปลกที่ทุกคนยังอยู่ในประเทศไทย ยังมีตำแหน่งใหญ่เป็นโต ยังเสพสุขกับเงินทุจริต