ร้อยเอ็ด-โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ลงนาม MOU การร่วมมือดูแลเด็กที่มีปัญหาการเรียน
ภาพ/ข่าว:คมกฤช พวงศรีเคน
จ.ร้อยเอ็ด โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ลงนาม MOU การร่วมมือดูแลเด็กที่มีปัญหาการเรียนอันเนื่องมาจากสาเหตุทางสุขภาพ (Health and Education Regional Operation : HERO) ปี 2562
เมื่อ วันที่ 28 มีนาคม 2562 เวลา 11.00 น.นายดำรงค์ สิริวิชย อิ่มวิเศษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในการลงนาม MOU การร่วมมือดูแลเด็กที่มีปัญหาการเรียนอันเนื่องมาจากสาเหตุทางสุขภาพ (Health and Education Regional Operation : HERO) ปี 2562 ที่ ห้องประดับฟ้า โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้น อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีผู้ร่วมลงนามประกอบด้วย นายแพทย์ชลวิทย์ หลาวทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ด นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด ดร.ครรชิต วรรณชา ศึกษาธิการจังหวัดร้อยเอ็ด ดร. สกล คามบุศย์ ผู้อำนวยการเขตสำนักงานพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ดเขต 1 นายพีรชัย จันทวารีย์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ดเขต 2 ดร.ประดู่ นามเหลา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 3 และนายแพทย์พิทักษ์พงศ์ พายุหะ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมลงนามในครั้งนี้
นายแพทย์ชลวิทย์ หลาวทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ด กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) โดยกำหนดกรอบแนวทางให้ทุกหน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนต้องทำตามเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” หรือตามคติพจน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มุ่งเน้นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ เพื่อพัฒนาคน ในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เด็กวัยเรียน (school age) เป็นช่วงวัยแห่งการเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา อันจะส่งผลให้เด็กมีการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคมต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ การจัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อความร่วมมือฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมมือดูแลเด็กที่มีปัญหาการเรียนอันเนื่องมาจากสาเหตุทางสุขภาพ (Health and Education Regional Operation : HERO) ประกอบด้วย ภาวะสมาธิสั้น ภาวะเรียนรู้ช้า ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ และภาวะออทิสติก ให้มีการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือเด็กวัยเรียนร่วมกัน โดย สถานศึกษา ดำเนินการคัดกรองนักเรียน โดยใช้แบบสังเกตพฤติกรรม 4 โรคหลัก ของสถาบันราชานุกูล และแบบคัดกรองสมาธิสั้น SNAP-IV การให้ข้อมูลเบื้องต้นกับผู้ปกครอง และประสานส่งต่อกรณีพบความผิดปกติไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลใกล้ มีการดูแลต่อเนื่องในชุมชน พร้อมจัดทำรายงานข้อมูลรายโรค ต่อไป
กิจกรรมในครั้งนี้ มีผู้บริหารทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู บุคลากรทางการศึกษา และบุคลากรทางการแพทย์ เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก