สระแก้ว-เตรียมแผนระยะ 3 ปี พร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ
ภาพ/ข่าว:สวาท เกตุงาม
ขอบคุณภาพและข้อมูล:สนธยา จงพันธนิมิตร ปชส.สระแก้ว
สสจ.สระแก้วขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพจังหวัดสระแก้ว เตรียมแผนระยะ 3 ปี พร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 ที่ ห้องประชุมสิรินธร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว นางดารารัตน์ โห้วงศ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ (ฝ่ายบริหารทางวิชาการ) เป็นประธานการประชุมพร้อมด้วย ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนผู้สูงอายุจากทุกอำเภอ เข้าร่มประชุม เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจังหวัดสระแก้ว (4PW) สมัชชาเฉพาะประเด็นว่าด้วยนโยบายรองรับสังคมผู้สูงอายุ ครั้งที่ 1/2562 ประกอบด้วย การเตรียมความในระดับบุคคล ตั้งแต่วัยเด็ก วัยทำงานเพื่อเป็นผู้สูงอายุ การเตรียมความด้านมาตรการเชิงระบบ เช่น ด้านสุขภาพอนามัย ด้านหลักประกันด้านรายได้ ขยายโอกาสการทำงาน จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมและปลอดภัย พัฒนาระบบข้อมูลผู้สูงอายุ สนับสนุนกฎหมายกตัญญู เป็นต้น
นางดารารัตน์ โห้วงศ์ เผยว่า สำหรับ สถานการณ์ผู้สูงอายุจังหวัดสระแก้วในปัจจุบัน มีผู้สูงอายุ 78,536 คน คิดเป็นร้อยละ 14.22 ของประชากรทั้งหมด จำนวน 552,394 คน โดยอำเภอที่มีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด 3 อำเภอ คือ อำเภอวังสมบูรณ์ ร้อยละ 15.13 อำเภอเมืองสระแก้ว ร้อยละ 14.91 และอำเภอวัฒนานคร ร้อยละ 14.59 อำเภอที่มีผู้สูงอายุน้อยที่สุด คือ อำเภอตาพระยา ร้อยละ 12.50
ผู้สูงอายุได้รับกรคัดกรองประเมินความสามารถประกอบกิจวัตรประจำวัน ในปี 2562 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มติดสังคม ร้อยละ 96.01 กลุ่มที่ภาวะพึ่งพิง ติดบ้านติดเตียง ร้อยละ 3.99 โดยอำเภอวังน้ำเย็นมีผู้สูงอายุกลุ่มที่มีภาวะพึ่งพิงมากที่สุด ร้อยละ 7.42 รองลงมา คือ อำเภอโคกสูง ร้อยละ 5.75 และอำเภอเมืองสระแก้ว ร้อยละ 4.34 อำเภอที่มีผู้สูงอายุที่มีพาวะพึ่งพิงน้อยที่สุดคือ อำเภอเขาฉกรรจ์ ร้อยละ 1.51
จังหวัดสระแก้วมีผู้สูงอายุที่มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพ จำนวน 62,052 คน จากประชากร 552,394 คน คิดเป็นร้อยละ 11.24 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่วัดสังคมผู้สูงอายุของสหประชาชาติ (UNDP) ที่กำหนดการเป็นสังคมผู้สูงอายุจะต้องมีประชากรผู้สูงอายุถึงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจังหวัดสระแก้ว ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ยากจนและมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรหลาน คิดเป็นร้อยละ 47.29 รองลงมาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่มีคนดูแล ไม่มีรายได้ และสมควรได้รับการช่วยเหลือคิดเป็นร้อยละ 27.34 เป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการ กิจกรรมสำคัญของผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ คิดเป็นร้อยละ 21.53 และเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่มีบัตรประชาชน คิดเป็นร้อยละ 1.98
นางดารารัตน์ ฯ กล่าวอีกว่า สำหรับ ผู้เข้าร่วมประชุม ได้ร่วมกันพิจารณารายละเอียดสมัชชาและระดมความคิดเห็นตามภารกิจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและนำข้อมูลมาบูรณาการให้ความช่วยเหลือ ประกอบด้วย มิติด้านเศรษฐกิจ จัดให้มีการออกแบบการออมเพื่อสังคมสูงวัย เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ จัดให้มีศูนย์การออมระดับท้องถิ่น และการออมในสถาบันการศึกษา การรับรองและส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อการออม และการสนับสนุนการออมในรูปแบบอื่น ๆ และการลดภาระหนี้ เช่น โครงการบ้านมั่นคง โครงการบ้านพอเพียง การเลี้ยงสัตว์และทำเกษตรอินทรีย์
มิติด้านสังคม สนับสนุนให้มีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงวัย ให้ขยายชมรมผู้สูงอายุ จัดทำฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน มีเครือข่ายและภาคีอื่น ๆ มาสนับสนุน ให้สถาบันการศึกษาสนับสนุนวิจัยการบริการสังคมแก่ผู้สูงอายุ
มิติด้านสภาพแวดล้อม ให้มีการปรับสภาพแวดล้อมอาคารและสถานที่ที่เหมาะกับผู้สูงอายุ ให้ อปท.จัดตั้งคณะทำงานศูนย์อยู่ดีในแต่ละตำบล มีกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ มีผู้ดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง
มิติ ด้านสุขภาพ ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร่วมกับ สสส.ประชาสัมพันธ์จังหวัด สื่อสารมวลชน ภาควิชาการ ภาคเอกชน ประชาสังคม ร่วมกันพัฒนากลไกเพื่อสนับสนุนสร้างความรอบรู้สุขภาพของบุคคลและชุมชนรอบรู้สุขภาพ ติดตาม ตรวจสอบ ปรับปรุง แก้ไข ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่อยู่แล้วในชุมชน สังคม ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่ถูกต้อง ร่วมทั้งขอความร่วมมือสถานประกอบการจัดสรรเวลาให้ลูกจ้างที่ดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว จัดสถานที่ทำงานหรือสถานประกอบการให้ดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เป็นต้น
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/