สุพรรณบุรี-ชาวนาร้องเรียนบ่อเลี้ยงกุ้งปล่อยน้ำเค็มน้ำกร่อยทิ้งลงคลอง
ภาพ/ข่าว:มงคล สว่างศรี-อาคม หลักคำ-ภัทรพล พรมพัก-ธนกฤต แตงโสภา-ธีรพร ชูก้าน-นภดล แก้วเรือง
ชาวนา ตำบลบางเลน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี รวมตัวเรียกร้องหลังเดือดร้อนต้นข้าวไม่โต สันนิฐานว่าผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้ง ปล่อยน้ำเค็ม-น้ำกร่อยลงคลอง ชาวนาที่สูบน้ำในคลองมาใช้ปลูกข้าวแล้วต้นข้าวไม่เจริญเติบโต ส่งผลให้นาข้าวเสียหายกว่า 200 ไร่ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ไข(มีคลิป)
ที่สุพรรณบุรี ชาวนาในพื้นที่หมู่ 4 ตำบลบางเลน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกันอีกหลายหมู่บ้าน รวมตัวกันร้องผู้สื่อข่าวว่าหลังผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้ง ได้เข้ามาทำบ่อกุ้งได้ 5-6 ปี เวลาจับกุ้งได้ปล่อยน้ำเค็ม-น้ำกร่อยทิ้งลงในคลอง ทำให้นาข้าวกว่า 200 ไร่ ที่ใช้น้ำในคลอง นาข้าวเสียหายเกือบทั้งหมด รวมทั้งชาวบ้านที่ใช้น้ำ และ ทำการเกษตร ของตำบลบางเลน อ.สองพี่น้อง ที่ใช้น้ำในคลองร่วมกัน หลังจากผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งปล่อยน้ำกร่อยในบ่อเลี้ยงกุ้ง ทำให้ชาวนาได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากน้ำเค็ม และ น้ำกร่อย ไหลลงในคลองส่งน้ำ ซึ่งเป็นคลองตันน้ำในคลองไม่สามารถถ่ายเทได้
ที่ผ่านมากลุ่มตัวแทนชาวนาที่เดือดร้อนเคยร้องเรียนไปทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางเกษตรตำบลแล้วเมื่อ 3-4 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว 1 ครั้ง โดยได้นำปูนปรับสภาพดินมาให้ชาวบ้านหว่านในนาข้าวก่อนไถหว่าน แต่ก็สภาพดินก็ยังไม่ดีขึ้น ชาวบ้านพยายามหาทางแก้ไขกันเองมาโดยตลอด ทั้งใช้น้ำหมักชีวภาพ ชาวนาต้องลงทุนหว่านข้าว 2-3 ครั้ง ครั้งแรกหว่านข้าวแล้วไม่ขึ้นหรือถ้าขึ้นก็บาง ๆ แล้วต้นข้าวก็เหี่ยวเฉาตาย ชาวนาต้องตัดสินใจไถทิ้งแล้วลงทุนหว่านใหม่ จึงอยากให้ทางผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งตรวจสอบสภาพดินและช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากชาวนามีความเดือดร้อนมาก
ด้านนางส้มเช้า ชมพูนาค อายุ 51 ปี และนางนฤมล ฉันท์เจริญ อายุ 43 ปี ชาวบ้านหมู่ 4 ต.บางเลน อ.สองพี่น้อง ตัวแทนชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อน เล่าว่าขณะนี้ไม่สามารถทำนาหว่านข้าวได้ สันนิฐานว่าน้ำที่นำมาทำนาปลูกข้าวนั้นเป็นน้ำเค็ม และเป็นน้ำกร่อย จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยแก้ไขด้วย รวมทั้งผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 4 บ่อในพื้นที่อยากให้มีการแก้ไขทำบ่อเก็บน้ำเค็มน้ำกร่อย หรือทำบ่อบำบัดน้ำก่อนปล่อยทิ้งลงคลองสาธารณะ เพื่อที่ทั้งเกษตรกรเลี้ยงกุ้งและเกษตรกรที่ทำนาปลูกข้าวจะได้อยู่ร่วมกันได้ โดยไม่มีผลกระทบอย่างเช่นทุกวันนี้
ด้านนางนฤมล ฉันท์เจริญ หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านเล่าว่า ชาวนาทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ที่บ้านตั้งแต่ทางหน่วยงานราชการให้งดเผาซังข้าวก็ใช้วิธีหลังเก็บเกี่ยวโดยขึ้นน้ำแล้วหมักทิ้งไว้และถึงจะไถหว่านพันธ์ข้าว การลงทุนตั้งแต่ไถจนถึงหว่านพันธุ์ข้าวตกไร่ละ 1,500-1,700 ต่อไร่ ตนทำทั้งหมด 36 ไร่ เกือบ 60,000 บาท ต่อครั้ง ครั้งนี้ก็ได้หว่านพันธุ์ข้าวไปแล้ว ต้นข้าวก็ไม่ยอมขึ้นอีก ต้องลงทุนไถแล้วหว่านพันธุ์ข้าวใหม่เป็นแบบนี้เกือบทุกราย บางรายลงทุนถึง 3 ครั้ง ถึงจะหว่านพันธุ์ข้าวแล้วเจริญเติบโต แม้กระทั่งชาวบ้านที่ทำนาบัว ก็ได้รับผลกระทบต้นบัว ไม่ค่อยออกดอก และก็จะค่อยๆเหี่ยวเฉาตายลง ทำให้บางครั้งเกษตรกรเกิดความท้อแท้ การทำนาเป็นอาชีพของพ่อ แม่ที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนขอฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบ และช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากขณะนี้มีความเดือดร้อนมาก
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/