อธิบดี พช.ปลื้มวิถีชีวิตชาวเชียงราย พร้อมมอบนโยบายพัฒนาสู่ชุมชนเข้มแข็ง
ภาพ/ข่าว:ศูนย์ข่าวจังหวัดนครปฐม
อธิบดี พช.ปลื้มวิถีชีวิตชาวเชียงราย พร้อมมอบนโยบายพัฒนาสู่ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมคณะผู้บริหารกรมฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานกลุ่มอาชีพผ้าปักด้วยมือบ้านสันกอง และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ OTOP เด่นของจังหวัดเชียงราย อาทิ ผลิตภัณฑ์จากกาแฟ ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป ขนมไทย และน้ำพริก เป็นต้น ที่นำมาจัดแสดง ณ บ้านสันกอง หมู่ 2 ตำบลแม่ไร่ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โดยมีนายอุทัย หอมนาน พัฒนาการจังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และผู้นำชุมชน ชาวบ้านในจังหวัดเชียงราย ร่วมให้การต้อนรับ
ในการนี้ อธิบดีฯ ได้ร่วมพูดคุยและเสนอแนะแนวทางการพัฒนากับกลุ่มอาชีพฯ และผู้ประกอบการ OTOP โดยมีนางนิธี สุธรรมรักษ์ ประธานกลุ่มอาชีพผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง ได้เล่าประวัติความเป็นมาของกลุ่มฯ ว่า กลุ่มได้เริ่มจากผู้สูงอายุในหมู่บ้าน 10 กว่าคน ใช้เวลาว่างร่วมกันทำหัตถกรรมผ้าปักลายชาวไทยภูเขา โดยทำเป็นงานอดิเรก นางนิธีฯ จึงได้นำไปลองวางขายที่ตลาดไนท์บาซ่าร์ จังหวัดเชียงราย ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จึงยึดเป็นอาชีพหลักและตั้งกลุ่มปักผ้าขึ้น โดยปัจจุบันได้รับคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาว และ OTOP ขึ้นเครื่อง ที่มีจุดเด่น คือลายผ้าที่ปัก มาจากจินตนาการของผู้ปักเอง ทำให้มีลวดลายที่ไม่ซ้ำกันในผ้าผืนเดียว อีกทั้งยังแสดงถึงเอกลักษณ์ และวิถีชีวิตของบ้านสันกองโดยเฉพาะอีกด้วย นำมาซึ่งอาชีพ และรายได้ รวมถึงความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ชุมชนของตนเอง
ต่อจากนั้น อธิบดีฯ ได้พบปะสอบถามความต้องการ พร้อมทั้งมอบนโยบาย แก่เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย และผู้ประกอบการ OTOP จังหวัดเชียงราย จำนวนทั้งสิ้น 120 คน โดยได้ให้แนวทางการดำเนินงานพัฒนาชุมชน รวมถึงการพัฒนาตนเองให้เป็นแบบอย่างที่ดีและอยู่อย่างมีความสุข คือต้องดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ไว้ 2 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1 คือเอาตัวให้อยู่รอด พึ่งพาตนเองได้ อาทิ การใช้บริเวณบ้านให้มีประโยชน์ โดยการปลูกพืชผักสวนครัว หรือของกินได้ หรืออาจจะตั้งเป้าหมายว่า ปลูกผักให้ครบ 10 อย่าง เป็นต้น โดยมีตำบลเข้มแข็ง อย่างเช่น ”ตำบลโก่งธนู” อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เป็นต้นแบบ ระดับ 2 ครัวเรือนต้องดำเนินชีวิตที่มีอาชีพ มีรายได้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมี “โคกหนองนาโมเดล” เป็นต้นแบบ โดยจะให้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนที่มีอยู่ทั้ง 11 แห่ง ดำเนินการให้ความรู้ทั้งสองโมเดลต้นแบบต่อไป เพื่อให้ประชาชนคนไทยอยู่รอด อย่างยั่งยืน ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต
อธิบดีฯ ยังได้มอบนโยบายการทำงานพัฒนาชุมชนในปี 2563 สู่การปรับตัว Change for Good ด้วยการนำเทคโนโลยี ระบบ Digital มาปรับใช้กับกรมฯ อย่างเช่นการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง ในการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา โดยกรมฯ มีข้อมูลจำนวนมาก เน้นย้ำว่าการจัดเก็บข้อมูลต้องถูกต้องเป็นจริง รวดเร็ว และนำไปใช้วิเคราะห์ เปรียบเทียบย้อนหลัง และวางแผนต่อได้จริง โดยการจัดเก็บในปัจจุบันใช้ Smart Phone เป็นตัวช่วยที่ดีทำให้จัดเก็บ ประมวลผล และเผยแพร่ต่อได้ทันที อีกทั้งคนส่วนใหญ่มีใช้กันอยู่แล้ว โดยจะปรับการรายงานผลให้รายงานผลแบบระบบ Online รวมถึงลดจำนวนให้น้อยลง และลดความซ้ำซ้อนของแบบรายงาน
สุดท้าย อธิบดีฯ ได้ฝากข้อคิดว่า “ให้ทุกคนสามัคคีกัน อยู่ด้วยกันแบบพี่น้อง รักกัน รวมถึงรักในงานพัฒนาชุมชนด้วย ผมเป็น อธิบดีฯ คนที่ 29 แล้ว มาแล้วเดี๋ยวก็ไป แต่พวกเราทุกคนยังต้องอยู่ ดังนั้นก็ขอให้อยู่กันอย่างมีความสุข”
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/