กระบี่-ผบ.ทร. ถกบอร์ดบริหาร ศรชล. รีวิวผลงานรอบปี 66 พหุภาคี ซิมลีย์ – ดีล MOU เวียดนาม ชงตั้งทีม อนุฯ
ภาพ/ข่าว:นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี
วันนี้ (14 ก.ย.66) ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) โดย พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ครั้งที่ 3/2566 พร้อมด้วย พลเรือเอก ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ/เลขาธิการ ศรชล. คณะกรรมการบริหาร ศรชล. และผู้แทนหน่วยงานหลัก 7 ศร ใน ศรชล. ประกอบด้วย กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมประชุม ณ โรงแรมโซฟิเทล กระบี่ โภคีธรา กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท จังหวัดกระบี่
การประชุม ศรชล. สัญจร ครั้งที่ 3 ถือเป็นนัดสุดท้ายของปี งบประมาณ 2566 จัดขึ้นในพื้นที่ทะเลอันดามัน ศรชล.ภาค 3 ปรากฎสาระสำคัญที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นการรายงานผลการปฏิบัติตามนโยบายการปฏิบัติงานของ รอง ผอ.ศรชล./ผบ.ทร. ในรอบปี พ.ศ.2566 มีเครื่องแบบปฏิบัติงาน ศรชล. การพัฒนาความสัมพันธ์กับหน่วยงานความมั่นคงและบังคับใช้กฎหมายทางทะเลระหว่างประเทศ การพัฒนาแนวทางการประชาสัมพันธ์และการสร้างความตระหนักรู้ ให้สำนักงาน ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือ (ศคท.) จังหวัด มีรูปแบบอาคารปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐาน การยกระดับการปฏิบัติงานให้มีมาตรฐานสากล การยกระดับการปฏิบัติในด้านการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล (SAR) เตรียมความพร้อมการวางแผนรองรับการขจัดคราบน้ำมันและมลพิษทางน้ำ
ทั้งนี้ นโยบายด้านธุรการ การกำลังพล และการส่งกำลังบำรุง นโยบายด้านแผนและนโยบาย และนโยบายด้านการปฏิบัติการฝึก และการบังคับใช้กฎหมาย ในภาพรวมเป็นไปตามแผนงาน ตัวชี้วัด และเป้าหมายที่กำหนด
ผลงานระดับภูมิภาคที่สำคัญคือ ศรชล. เป็นเจ้าภาพร่วมกับหน่วยยามชายฝั่งสหรัฐอเมริกา จัดการประชุมระดับผู้บังคับบัญชาตามกรอบความริเริ่มกาบังคับใช้กฎหมายทางทะเล ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMLEI) ครั้งที่ 9 ระหว่าง 11 – 14 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางทะเล ร่วมกับหน่วยบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีผู้แทนหน่วยงานรักษาความมั่นคงทางทะเลจากมาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสหรัฐฯ มีการอภิปรายและหารือเกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญในระดับที่สูงขึ้น ได้แก่ การเขียนระเบียบปฏิบัติงาน (SOP) และขั้นตอนการอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบการกำหนดข้อมูล ด้านขีดความสามารถและการยุทธการ การวางแผนกลไกที่จำเป็นต่อความร่วมมือแบบพหุภาคี การปรึกษาหารือประจำปี โดยเน้นประเด็นหลักที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการกำหนดให้หน่วยยามฝั่งเวียดนาม เป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ.2567 และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทางทะเลของอินโดนีเซีย เป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ.2568 ทั้งนี้ หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ สำรวจความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมการประชุมฯ โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก
ที่ประชุมรับทราบ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 เห็นชอบให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง ศรชล. สำนักนายกรัฐมนตรี กับ หน่วยยามฝั่งเวียดนาม ในความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล โดยมอบอำนาจให้ รอง ผอ.ศรชล.เป็นผู้แทนฝ่ายไทย และ ผบ.หน่วยยามฝั่งเวียดนาม เป็นผู้แทนฝ่ายเวียดนาม ในการลงนามในบันทึกความเข้าใจ ที่มีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบขนสินค้าและการหลบหนีเข้าเมือง การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล และการยกระดับความปลอดภัยในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล นอกจากนี้ ศรชล. ยังได้จัดทำ (ร่าง) ระเบียบปฏิบัติงาน (SOP) เรื่องแนวทางประสานงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเล เพื่อพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินในทะเล โดยผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินทางทะเล จะได้รับการช่วยเหลือในเบื้องต้นอย่างทันท่วงทีและเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ที่กฎหมายกำหนด สอดคล้องกับหน้าที่ อำนาจ และความรับผิดชอบของ ศรชล.
ข้อพิจารณาสำคัญในการประชุมครั้งนี้ ตามที่ ศรชล. ได้จัดทำแผนการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนงานและโครงการ ให้สอดคล้องกับแผนและแนวทางในการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เป็นไปตามที่กำหนดในมาตรา 23 ของ พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 ที่มี รองเลขาธิการ ศรชล. เป็นประธานอนุกรรมการ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศรชล. เป็นรองประธานฯ และมีผู้แทนจากหน่วยงานภายใน ศรชล. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นอนุกรรมการ รวมทั้งหมด 34 คน เป็นกลไกในการบูรณาการขับเคลื่อนแผนการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และช่วยเหลือในการพิจารณากลั่นกรองการบริหารงานของ ศรชล. ตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการบริหาร ศรชล. โดยเมื่อคณะกรรมการบริหาร ศรชล.ให้ความเห็นชอบ จะได้เสนอขออนุมัติต่อไป