กาญจนบุรี-รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงตรวจราชการรับฟังและแก้ไขปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่
ภาพ/ข่าว:รักษพล พุ่มพฤกษ์
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 17 ตุลาคม 2566 นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ เดินทางมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ณ เอ็มมิลค์เดรี่ฟาร์ม หมู่ที่ 7 ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี โดยมี นายรณภพ เวียงสิมมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย นายชูศักดิ์ แม้นทิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กาญจนบุรี เขต 2 นายพนม โพธิ์แก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กาญจนบุรี เขต 5 นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช หัวหน้าสำนักงานจังหวัดกาญจนบุรี และคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้การต้อนรับ
ต่อจากนั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมระบบการบริหารจัดการภายในฟาร์มโคนม โรงงานผลิตนมและฟาร์ม M Milk Dairy Farm จังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้ผลิตนมไร้แลคโตส รายแรกของไทย อีกทั้งยังเป็นโรงงานผลิตนมและเลี้ยงวัวนมขนาดใหญ่ มีวัวประมาณ 1,000 ตัว บนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ และยังเป็นศูนย์คัดเลือกสายพันธ์วัวและเป็นแหล่งปลูกพืชอาหารสัตว์ ถือเป็นสมาร์ทฟาร์มมิ่งต้นแบบอีกด้วย หลังจากนั้นเวลา 11.00 น. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรแปรรูปบ้านตอไม้แดง หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบประชาชน” โดยมี นายรณภพ เวียงสิมมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ให้การต้อนรับและรายงานข้อมูลทั่วไปในพื้นที่ฯ และนายวีระศักดิ์ สุขทอง เกษตรจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานฯ
จังหวัดกาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ทั้งหมด 12,179,968 ไร่ มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย รองจากจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดนครราชสีมา โดยเป็นพื้นที่เกษตรกรรม 3,030,599 ไร่ คิดเป็น 24.88 % ของพื้นที่ทั้งหมดแบ่งเป็น ด้านพืช 2 ล้านกว่าไร่ ด้านปศุสัตว์ 3 พันกว่าไร่ และประมง 4 พันกว่าไร่ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวนาปี สัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ไก่เนื้อ โคเนื้อ สุกร โค และแพะ สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ปลานิล กุ้งขาว กุ้งก้ามกราม และสินค้าเกษตรที่ได้รับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ด้านพืชจำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ทุเรียนทองผาภูมิ และเงาะทองผาภูมิ โดยทั้งสองชนิดมีรสชาติอร่อยเป็นเอกลักษณ์ สามารถเป็นจุดขาย และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่