ประจวบคีรีขันธ์-นอภ.หัวหิน ให้ความรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน กักเก็บน้ำหลากในหน้าฝนสร้างแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์

ประจวบคีรีขันธ์-นอภ.หัวหิน ให้ความรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน กักเก็บน้ำหลากในหน้าฝนสร้างแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์

ภาพ/ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร

          เมื่อวันที่ 8 พ.ย.66 ที่หมู่ 9 ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน เป็นประธานเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการส่งเสริมธนาคารน้ำใต้ดิน (Ground water Bank) มี นางอุษา พวงวลัยสิน นายกกิ่งกาชาด อ.หัวหิน นายมนตรี มานิชพงษ์ ปลัดอำเภอหัวหิน นายเจนวิท ผลิศักดิ์ สาธารณสุข อ.หัวหิน หน่วยจงอางศึก ตชด. อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่กว่า 70 คน เข้ารับการอบรม มีการนำเสนอการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนบ้านโปร่งสำโหรง การบรรยายเรื่องการส่งเสริมธนาคารน้ำใต้ดิน สาธิตการสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน และร่วมกิจกรรม “ปลูกป่าต้นน้ำ”
          ธนาคารน้ำใต้ดิน คือการใช้หลักการเติมน้ำไปเก็บในชั้นใต้ดิน โดยขุดบ่อในบริเวณพื้นที่น้ำท่วม น้ำขัง น้ำหลาก หรือจุดรวมของน้ำเพื่อกักน้ำให้ซึมลงไปชั้นหิน เป็นการพักน้ำรวมไว้เหมือนธนาคาร อีกวิธีคือ การใช้เศษไม้ ขวดแก้ว เศษอิฐ กรวด หิน หรือวัสดุที่มีในท้องถิ่นมาถมในบ่อเพื่อแทนที่น้ำให้น้ำล้นออกมาใช้ได้เร็วขึ้นเมื่อน้ำใต้ดินมีปริมาณมากพอ แนวความคิดนี้เป็นเสมือนการออมหรือกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในหน้าแล้ง หรืออุ้มน้ำในยามน้ำหลาก นับเป็นตัวอย่างของการบูรณาการความรู้ทางวิชาการและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถใช้บริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน

          ธนาคารน้ำใต้ดินแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ระบบปิด คือการขุดหลุมเพื่อดึงน้ำฝนที่อยู่บนพื้นดินลงสู่ใต้ดินในระดับชั้นผิวดิน มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ดินในพื้นที่โดยรอบ และ ระบบเปิด คือการขุดหลุมไปให้ถึงชั้นหินอุ้มน้ำ ซึ่งเป็นจุดที่เจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ เพื่อให้น้ำฝนเติมเข้าสู่ชั้นหินที่กักเก็บน้ำบาดาลได้โดยตรงเชื่อมต่อกับระบบน้ำใต้ดินเพื่อสามารถขุดมาเป็นน้ำบาดาลมาใช้ในหน้าแล้งได้ โดยประโยชน์ที่ได้รับจากธนาคารน้ำใต้ดินคือการก่อให้เกิดความชุ่มชื้นต่อหน้าดิน ประหยัดน้ำในการรดน้ำต้นไม้บริเวณใกล้เคียง ลดน้ำท่วมขังได้ในช่วงหน้าฝน สามารถกักน้ำส่วนเกินดังกล่าวให้มาเป็นความชุ่มชื้นในหน้าแล้ง และชุมชนยังสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่รอบ ๆ ผิวดินของธนาคารน้ำได้ปกติ โดยไม่จำต้องเสียพื้นที่เพื่อทำจุดกักเก็บแหล่งน้ำเพียงอย่างเดียว.

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!