ประจวบคีรีขันธ์-เกษตรกรโอดรัฐจ่อเก็บภาษีไม้ยืนต้น ยันไม่เห็นด้วยแค่นี้ก็แย่อยู่แล้ว
ภาพ/ข่าว:เอกภพ วงษ์ประเสริฐ
วันที่ 20 พ.ย.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ภาครัฐ โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมไปถึงภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าในเรทอัตราค่าภาษีที่แตกต่างกัน ทำให้นายทุนที่มีที่ดินรกร้างว่างเปล่าหันมาปลูกพืชการเกษตรเพื่อหวังลดภาษีโดยไม่ได้มีการดูแลและไม่หวังผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างจากเกษตรกรรายย่อย ที่ปลูกพืชแบบผสมผสาน ทั้งพืชล้มลุก และไม้ยืนต้น เพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจเป็นอาชีพ ทำให้ต่อมาภาครัฐได้มีการกำหนดอัตราจำนวนการปลูกพืชต่อไร่ เพื่อป้องกันกลุ่มนายทุนปลูกพืชผลเพื่อหวังเลี่ยงภาษี อีกทั้งยังมีแนวนโยบายในการจัดเก็บภาษีไม้ยืนต้น ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลกระทบกับเกษตรกรตัวจริง ผู้ประกอบอาชีพปลูกพืชไม้ยืนต้นโดยตรง อาทิ มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ทุเรียน และไม้ยืนต้นอื่นๆ
นางวันเพ็ญ มหาสอน อายุ 54 ปี เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่ตำบลเขาจ้าว อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ตนเองได้ประกอบอาชีพปลูกพืชทำการเกษตรหลายอย่าง ไม่ว่าจะปลูกทุเรียน ปาล์มน้ำมัน สับปะรด และว่านหางจระเข้ โดยปลูกทุเรียนไว้ จำนวน 170 ต้น ปาล์มน้ำมัน จำนวน 500 กว่าต้น ซึ่งที่ผ่านมาตนเองได้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมไปถึงภาษีที่ดินทำการเกษตรกับทาง อบต.ทุกปี และยังไม่ทราบข่าวเกี่ยวกับภาครัฐจะมีนโยบายเกี่ยวกับการเก็บภาษีไม้ยืนต้นเพิ่มเติม เนื่องจากพื้นที่ตำบลเขาจ้าวเป็นพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ห่างไกลความเจริญ ไม่มีไฟฟ้า และสัญญาณโทรศัพท์ที่ไม่เสถียร ทำให้ไม่ค่อยได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งถ้าหากภาครัฐจะมีการจัดเก็บภาษีไม้ยืนต้นจริง ตนเองไม่เห็นด้วย เนื่องจากปัจจุบันเสียภาษีที่ดินทำการเกษตร และสิ่งปลูกสร้างอยู่แล้ว ซึ่งถ้าหากต้องเสียภาษีไม้ยืนต้นอีกคงไม่ไหว แค่นี้ก็แย่อยู่แล้ว เพราะทุกวันนี้ราคาผลผลิตทางการเกษตรมีแต่ตกต่ำไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ต้นทุนการผลิตมีแต่สูงขึ้นเรื่อยๆไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ย ยา สารเคมี และ น้ำมัน อยากให้ภาครัฐหันมาดูแลเกษตรกรบ้าง ช่วยทำให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรสูงขึ้นกว่าเดิมปรับให้สมดุลกับต้นทุนการผลิต
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการได้ลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นของเกษตรกรเกี่ยวกับนโยบายที่ภาครัฐจะมีการเก็บภาษีไม้ยืนต้นนั้น พบว่าเกษตรกรหลายรายส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยทราบเรื่องนี้ อาจเป็นเพราะภาครัฐขาดการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง รวมไปถึงพื้นที่ที่เกษตรกรอาศัยอยู่ในบางพื้นที่ยังขาดช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สัญญาณโทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ตยังเข้าไม่ทั่วถึงไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ที่เกษตรกรอาศัยอยู่ ซึ่งเรื่องนี้มองว่าภาครัฐต้องมีการทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นจากประชาชน ก่อนออกประกาศใช้กฎหมายนี้ โดยการมอบอำนาจให้ท้องถิ่นเก็บสำรวจรวบรวมข้อมูลตามสภาพความเป็นจริง เพราะอยู่ในพื้นที่จัดเก็บ และจัดเก็บในอัตราที่แตกต่างกัน ระหว่างที่ดินที่เป็นที่รกร้างของนายทุนที่ทำการเกษตรแบบหวังลดภาษี ไม่สามารถแจ้งเป็นการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรได้ ควรมีการจัดทำรายได้เพื่อป้องกันการทำการเกษตรแบบแอบแฝง และที่ดินของเกษตรกรที่รับสืบทอดมรดกเพื่อทำการเกษตรแบบพออยู่พอกิน และทำการเกษตรจริงๆ