สุพรรณบุรี-สืบสานประเพณีหว่านวันแม่เกี่ยววันพ่อ
ภาพ/ข่าว:มงคล / รัตนา / พงษกร สว่างศรี / นพดล แก้วเรือง
นายศรีธรรม ราชแก้ว ปลัดจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานเปิดงาน สืบสานประเพณีหว่านวันแม่ เกี่ยววันพ่อ พร้อมด้วยนายวันชัย นิลวงศ์ เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี นางสาวธัญญารัตน์ กาญจนรัตน์ นายอำเภอหนองหญ้าไซ นายสุธี โค้วอุดมประเสริฐ ส.อบจ.เขต 2 อำเภอหนองหญ้าไซ โดยมีนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ ปราชญ์ชาวบ้าน และสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี สมาคมเกษตรปลอดภัย ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอหนองหญ้าไซ เกษตรกร ร่วมงานสืบสานประเพณีหว่านวันแม่ เกี่ยววันพ่อ ตำข้าวเม่าเผาข้าวหลาม ที่ศูนย์สัมมาชีพต้นแบบเกษตรผสมผสานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี
นายศรีธรรม ราชแก้ว ปลัดจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ลงแปลงนาใช้เคียวเกี่ยวข้าว และได้เข้าร่วมพิธีเรียกขวัญพระแม่โพสพ ตามพิธีโบราณที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ย่า ตายาย โดยการนำฟางข้าวมามัดเป็นหุ่น มาเป็นตัวแทนของพระแม่โพสพ มีเครื่องเส้นไหว้พระแม่โพสพ เช่น ผลไม้ น้ำเปล่า กล้วยหวีงาม ซึ่งมีคุณยายพต มาลัยทอง อายุ85ปี พร้อมลูกหลานเป็นผู้ทำพิธีเรียกขวัญข้าว เป็นการย้อนยุคประเพณีโบราณเก่าแก่และเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามของเกษตรกรสมัยก่อนไว้ให้เยาวชนได้สืบสานต่อไป จากนั้น นายศรีธรรม ราชแก้ว ปลัดจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ทดลองขับรถดำนา ปลูกข้าว และทั้งปลูกต้นไม้
ซึ่งกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าว ด้วยเคียวแบบโบราณ ทำพิธีเรียกขวัญพระแม่โพสพ รับขวัญข้าวเข้าบ้าน การตำข้าวเม่า เผาข้าวหลาม ซึ่งเป็นการย้อนยุคประเพณีโบราณ ที่ชาวนาสมัยก่อนทำสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนที่กำลังจะหายไป เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นและประเพณีอันมีค่าที่สำคัญต่อวิถีชีวิตชาวนาในอดีต ได้แก่ กิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าว การรับขวัญข้าว และการตำข้าวเม่า เป็นวิธีคาดการณ์เวลาเก็บเกี่ยวข้าว รวมถึงหลังเก็บเกี่ยวจะเผาข้าวหลาม นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมรับฟังความคิดเห็น “โครงการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ขับเคลื่อนสุพรรณบุรี สู่เมืองแห่งข้าวคาร์บอนต่ำ” ที่สนับสนุนให้ชาวนามีรายได้เสริมจากการปลูกข้าว
นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีไทยโบราณที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่มีเจตนารมย์ร่วมกันต่อการสร้างความสามัคคีในชุมชน การถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่คนรุ่นหลัง เพื่อให้ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามอยู่คู่กับสังคมไทยแล้ว ยังเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่แก่ชาวนาเพื่อสร้างความยั่งยืนในอาชีพอีกด้วย