อยุธยา-คลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ ประจำปี 2567 ครั้งที่ 1
ภาพ/ข่าว:นราเอก ตันศิริ / นพดล บำเพ็ญสัตย์
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 28 ธันวาคม 2566 ที่ วัดลำบัว ตำบลหันตะเภา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายกกชัย ฉายรัศมีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประจำปี 2567 ครั้งที่ 1 โดยมี ดร.รุจีพัชร บุญจริง เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้กล่าวรายงาน นายธีรเมธ เทพวิชัยศิลปกุล นายอำเภอวังน้อย กล่าวให้การต้อนรับ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ เครือข่ายเกษตรกร และเกษตรกร เข้าร่วมงาน
จากสถานการณ์ที่ผ่านมา ในพื้นที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สภาพการผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพทำนา ทำประมงและประกอบอาชีพด้านปศุสัตว์ ที่ผ่านมาเกษตรกรประสบปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อการเกษตร ด้านโรค แมลง ศัตรูพืชระบาด และปัญหาโรคระบาดสัตว์เลี้ยง ทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหาย จะเห็นว่าปัญหาด้านการเกษตรในปัจจุบันต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น เกษตรกรจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีทำการเกษตรเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร และสร้างเครือข่ายกลุ่มเกษตรกร ยกระดับการทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จึงมีความจำเป็นต้องบูรณาการออกหน่วยให้บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้เกษตรกรเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพการเกษตรและแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
สำนักงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้จัดงานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์สมเด็จ พระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประจำปี 2567 ครั้งที่ 1 ขึ้น ณ วัดลำบัว ตำบลหันตะเภา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้บริการเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาการผลิตด้านการเกษตรอย่าง รวดเร็ว อย่างทั่วถึง และสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร บูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานส่งเสริม และหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการให้บริการและแก้ไขปัญหาทางการเกษตรร่วมกัน ให้สามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน โดยคลินิกเกษตรที่เปิดให้บริการ ประกอบด้วย คลินิกดิน คลินิกพืช คลินิกปศุสัตว์ คลินิกประมง คลินิกชลประทาน คลินิกสหกรณ์ คลินิกบัญชี คลินิกกฎหมาย คลินิกข้าว คลินิกหม่อนไหม คลินิกฝนหลวง และคลินิกอื่นๆ ซึ่งเป็นการให้บริการคลินิกเกษตรของหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และการให้บริการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายกกชัย ฉายรัศมีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ปัญหาด้านการเกษตรในปัจจุบันมีความหลากหลาย เกษตรกรส่วนใหญ่ มีการผลิต สินค้าเกษตรที่หลากหลาย ทั้งด้านการผลิตพืช ด้านประมงและการเลี้ยงสัตว์ ที่ทำให้เกษตรกรใน อำเภอวังน้อย มีอาชีพและมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยปัญหาส่วนใหญ่มาจากการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ องค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตพืช การทำประมงและการเลี้ยงปศุสัตว์ ด้านโรคพืชและโรคสัตว์เลี้ยง ด้านแมลงศัตรูพืชระบาด โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ ถือว่ามีความสำคัญ เป็นการบูรณาการหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกหน่วยให้บริการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้เกษตรกรเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพการเกษตร และแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ เกษตรกรต้องวางแผนการผลิตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และขอความร่วมมือเกษตรกรทุกท่านปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจากเดิมมุ่งสู่การทําการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยจากสารพิษ โดยการลด ละ เลิก การใช้สารเคมีที่อันตราย หยุดการเผา ในพื้นที่การเกษตร เพื่อลดปัญหาสารพิษตกค้างในผลผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัยของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งส่งผลเสียต่อการทําอาชีพ การเกษตรโดยตรงทําให้ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งในวันนี้มี หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ และให้บริการคลินิกเกษตร เคลื่อนที่ เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว และขอให้เกษตรกร ได้นําหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ มายึดถือปฏิบัติ และขยายผล ซึ่งจะทําให้พี่น้องเกษตรกรมีความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว