ลพบุรี-พัฒนาชุมชนจัดโครงการรักษ์ภูษาศิลป์ถิ่นละโว้ผ้าไทยใส่สนุกยกระดับการท่องเที่ยว
ภาพ/ข่าว:กฤษณ์ สนใจ
เมื่อค่ำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 ที่เวทีกลาง พระนารายณ์ราชนิเวศน์ อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ว่าที่ร้อยตรี ทรงพล แป้นแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานเปิดกิจกรรม โครงการรักษ์ภูษาศิลป์ถิ่นละโว้ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยมี นางสุวจี ศิริปัญโญ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลพบุรี นางถาวร เหลืองทอง นายกสมาคมพัฒนาสตรีละโว้ นายสิทธิชัย หล่อประสงค์สุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จังหวัดลพบุรี คณะรองแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลพบุรี หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า จังหวัดลพบุรี ได้นำแนวนโยบายของกระทรวงมหาดไทยในการน้อมนำพระดำริ”ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาสู่การขับเคลื่อนและส่งเสริมการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย ด้วยการเชิญชวนให้ส่วนราชการและพี่น้องชาวจังหวัดลพบุรี ได้ใช้และสวมใส่ผ้าไทยในทุกวัน และทุกโอกาส เป็นการส่งเสริมให้ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้าไทยได้ผลิตชิ้นงานก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าไทยของจังหวัดลพบุรีให้ทันสมัย ด้วยการออกแบบชุดผ้าไทยให้มีความสวยงามหลากหลายสไตล์ นำไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เกิดแรงขับเคลื่อนในชุมชน ทำให้ประชาชนในชุมชน สามารถพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้การจัดกิจกรรมการเดินแบบผ้าไทยตามโครงการรักษ์ภูษาศิลป์ถิ่นละโว้ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” แล้วยังจัดให้มีกิจกรรมการประกวดการออกแบบและตัดเย็บผ้าไทยจากทุกอำเภอของจังหวัดลพบุรีเพื่อส่งเสริมและต่อยอดการพัฒนาการออกแบบตัดเย็บและผลิตชุด “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”จากกลุ่มสตรี กลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายของจังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการใช้และการสวมใส่ผ้าไทย ให้เป็นที่ รู้จักอย่างแพร่หลายส่งผลกับจังหวัดลพบุรีอย่างยั่งยืนตลอดจนตอบสนองนโยบายรัฐบาล ในการสร้างพลังสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรมหรือ “Soft Power”
สำหรับการจัดเดินแบบผ้าไทยปีนี้ ได้รับเกียรติจาก หัวหน้าส่วนส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ภาคเอกชน กลุ่มองค์กร ส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารจังหวัด แม่บ้านมหาดไทย และนายอำเภอทั้ง 11 อำเภอ เดินแบบผ้าไทยกิตติมศักดิ์ นอกจากนี้ มีการประกวดการออกแบบและตัดเย็บผ้าไทยจำนวน 43 ชุด และการประกวดหนุ่ม – สาว ชาวละโว้ 2567 อีกด้วย