ประจวบคีรีขันธ์-ชุดปฏิบัติการค้นหานำป้ายชื่อ “เรือหลวงสุโขทัย” เป็นของชิ้นแรกขึ้นจากน้ำหลังอับปางนานกว่าปี
ภาพ/ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร
เมื่อวันที่ 23 ก.พ.67 การปฏิบัติการกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัด (Light Salvage) บริเวณจุดที่เรือหลวงสุโขทัยอับปางในทะเลอ่าวไทย พื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.65 มีกำลังพลรอดชีวิต 76 นาย เสียชีวิต 24 นาย และสูญหาย 5 นาย โดยภารกิจในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือไทยและสหรัฐอเมริกา กองทัพเรือไทยใช้เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือต่อต้านทุ่นระเบิด 2 ลำ เรือตรวจการณ์ 2 ลำ เรือระบายพลขนาดกลาง 1 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด 35 นาย ส่วนกองทัพเรือสหรัฐฯ ใช้เรือ Ocean Valor พร้อมเจ้าหน้าที่จากหน่วยประดาน้ำและกู้ซ่อมเคลื่อนที่ซึ่งประจำอยู่ที่ฐานทัพเรือในรัฐฮาวาย จำนวน 14 นาย เข้าร่วมสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจ โดยในวันนี้เป็นวันที่ 2 ของปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัย ชุดปฏิบัติการของกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐ ฯ บนเรือ Ocean Valor ที่จอดเรืออยู่บริเวณอ่าวไทยใกล้จุดที่เรือหลวงสุโขทัยอับปาง ยังคงปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกของปฏิบัติการ ชุดประดาน้ำผสมของกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐ ฯ ได้ทำการปฏิบัติการ จำนวน 3 เที่ยว เป็นการถอดป้ายชื่อเรือหลวงสุโขทัยทางกราบขวา แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้ เนื่องจากป้ายยึดแน่นจากการที่สัตว์ทะเลเกาะอยู่บริเวณพื้นผิว ประกอบกับเวลาปฏิบัติการใต้น้ำไม่เพียงพอ จึงเลื่อนการเก็บกู้ป้ายฯ ไปดำเนินการในวันถัดไป จากนั้นได้ทำการดำน้ำเพื่อถ่ายภาพบริเวณเครื่องกว้านสมอ ทางเข้า(ฝา Hatch )หน้าเครื่องกว้าน และรอยฉีกหน้าโครงกันคลื่น (Wave breaker) โดยการปฏิบัติการในวันแรก เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สภาพทะเลและอากาศไม่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ในวันที่ 23 ก.พ. 67 ชุดประดาน้ำผสมกองทัพเรือของทั้งสองประเทศ ได้วางแผนการดำน้ำ จำนวน 4 เที่ยว ประกอบด้วย เที่ยวที่ 1 และ 2 เป็นการสำรวจตัวเรือภายนอก และดำน้ำเพื่อถอดป้ายชื่อเรือหลวงสุโขทัย เที่ยวที่ 3 และ 4 เป็นการดำน้ำเพื่อตรวจวัดรอยทะลุบริเวณหัวเรือ และการตรวจสอบประตูผนึกกั้นน้ำบริเวณท้ายเรือ และบริเวณแท่นอาวุธปล่อย Aspide บริเวณท้ายเรือ จากการดำน้ำในช่วงเช้าของวันนี้ ชุดประดาน้ำผสมของกองทัพเรือทั้งสองประเทศสามารถนำป้ายเรือหลวงสุโขทัย ซึ่งเป็นสิ่งของชิ้นแรกที่นำขึ้นมาจากเรือได้เป็นผลสำเร็จ หลังเรือหลวงสุโขทัย อับปางในคืนวันที่ 18 ธ.ค.2565 นานกว่า 1 ปี
โดยก่อนหน้านี้ พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์มายังเรือหลวงอ่างทอง เพื่อตรวจเยี่ยมการปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัยบนเรือ Ocean Valor บริเวณอ่าวไทยใกล้จุดที่เรือหลวงสุโขทัยอับปาง โดยมีพลเรือเอก ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการค้นหาและปลดอาวุธอันตรายเรือหลวงสุโขทัย และนาวาเอก Hugh Winkel ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพฯ ให้การต้อนรับ และร่วมสังเกตุการณ์บนเรือ Ocean Valor ซึ่งเป็นเรือปฏิบัติการหลัก ในการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัย โอกาสนี้ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ทักทายกำลังพลกองทัพเรือและกองทัพเรือสหรัฐ รวมถึงผู้บังคับการหน่วยดำน้ำกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ และสังเกตการณ์การปฏิบัติอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ขั้นเตรียมการก่อนลงปฏิบัติการจนถึงขั้นการลงไปปฏิบัติงานใต้น้ำ
พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร.กล่าวว่า “กองทัพเรือ ขอยืนยันว่า การปฏิบัติการครั้งนี้ตรงไปตรงมา และเอามาประกอบสิ่งที่ต้องการแถลงให้คนไทยทั้งประเทศ ทราบว่าเรือหลวงสุโขทัย จมไปเพราะอะไร ซึ่งต้องชัดเจน เมื่อฟังแล้วต้องเข้าใจ คำถามทั้งหมดต้องได้รับการอธิบาย ซึ่งจากการไปถ่ายรูปเรือหลวงสุโขทัยใต้น้ำ มีรอยปริบริเวณหัวเรือ ส่วนจะเกิดจากสาเหตุอะไรขอให้รอข้อมูล พร้อมยืนยันว่ารอยปริดังกล่าวไม่ได้ปริเนื่องจากสาเหตุการซ่อมบำรุง และต้องขอบคุณกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่ได้ให้การช่วยเหลือในการปฏิบัติการครั้งนี้ เพราะการประมูลกู้เรือหลวงสุโขทัยทั้ง 2 ครั้ง ไม่สำเร็จ เพราะบริษัทฯ ที่เสนอตัวมา มีเอกสารรับรองคุณสมบัติไม่ครบตามที่กองทัพเรือต้องการ ส่วนงบประมาณที่เตรียมไว้กู้เรือนั้น ในส่วนที่รัฐบาลสนับสนุนมา 90 ล้านบาท จะนำส่งคืนเพื่อให้รัฐบาลนำไปช่วยเหลือประชาชน ส่วนงบประมาณที่เตรียมไว้บางส่วน จะนำมาใช้ในการปฏิบัติการครั้งนี้ การเยี่ยมชมการปฏิบัติงานบนเรือ Ocean Valor ในวันนี้ ได้เห็นถึงความยากลำบากในการปฏิบัติงาน ตั้งแต่ขั้นการลำเลียงอุปกรณ์ดำน้ำมาจากฐานทัพเรือในฮาวาย มาลงเรือที่สิงคโปร์ และนำเรือมายังจุดดำน้ำแห่งนี้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ นับเป็นการแสดงออกถึงมิตรภาพอันยาวนานระหว่างกองทัพเรือของทั้งสองประเทศ ที่มุ่งมั่นในการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ร่วมกัน ให้สำเร็จลุล่วงตามจุดประสงค์อย่างปลอดภัย”
สำหรับการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ จะอยู่ในขั้นตอนการสำรวจตัวเรือและค้นหาผู้สูญหาย โดยจะทำการดำลงไปถ่ายภาพตัวเรือทั้งภายนอก และภายใน เพื่อใช้ในการสืบสวนสาเหตุการจมของเรือ รวมถึงสำรวจและค้นหาผู้สูญหาย โดยจะใช้ระยะเวลาในการปฏิบัติการประมาณ 5 วัน ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการเก็บกู้ยุทโธปกรณ์ และปลดวัตถุอันตรายในอีก 14 วัน รวมถึงการเก็บกู้สิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจของกำลังพลกองทัพเรือต่อไป ซึ่งในวันนี้ผู้บัญชาการทหารเรือได้แจ้งว่าสิ่งแรกที่จะนำขึ้นมาจากเรือหลวงสุโขทัยชิ้นแรกคือ “ป้ายชื่อเรือหลวงสุโขทัย” โดยรวมระยะเวลาในการปฏิบัติการทั้งสิ้น 19 วัน ทั้งนี้กองทัพเรือจะแจังความคืบหน้าในการปฏิบัติให้ทราบอย่างต่อเนื่อง.