ประจวบคีรีขันธ์-ทางหลวงประชุมสรุปผลโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจ-ออกแบบขยายถนนหมายเลข 4373
ภาพ/ข่าว:พิสิษฐ์ รื่นเกษม
วันที่ 14 มี.ค.67 นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผล โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 4373 สาย บ้านหนองหิน-ด่านสิงขร(สัมมนา ครั้งที่ 3) จัดโดย สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง โดยมี นายเศรษฐ์ จันทอาด รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงประจวบฯ (หัวหิน) กล่าวรายงาน และมี นายสมชาย ปี่แก้ว นายก อบต.คลองวาฬ ผู้แทนจากกรมทางหลวง คณะบริษัทที่ปรึกษาฯ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และส่วนราชการในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เข้าร่วม ณ โรงแรมแอทที บูทีค ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบฯ
นายเศรษฐ์ จันทอาด รอง ผอ.แขวงทางหลวงประจวบฯ กล่าวว่า ด่านสิงขรเป็นหนึ่งในเส้นทางที่เชื่อมไปยังเมืองมะริด สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และยังเป็นตลาดการค้าชายแดนระหว่างประเทศ ซึ่งในการเดินทางจะใช้ทางหลวงหมายเลข 4 เชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 4373 เป็นเส้นทางหลัก ทำให้ปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ใช้เส้นทางไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง ดังนั้น กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท ออโรส จำกัด บริษัท สแปน จำกัด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และบริษัท เวิลด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัดให้ดำเนินงานบริการด้านวิศวกรรมการสำรวจและออกแบบโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 4373 สาย บ.หนองหิน–ด่านสิงขร สำหรับการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการฯในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชน หน่วยงาน และองค์กรระดับต่าง ๆ รับทราบผลสรุปการศึกษาด้านวิศวกรรมผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ผลการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่มีผลต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ เพื่อให้กรมทางหลวงและคณะผู้ศึกษาได้นำไปพิจารณาประกอบการศึกษาโครงการให้มีความเหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ กำหนดรูปแบบเขตทางของโครงการ แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 กม. 0+378 ถึง กม. 12+ 700 ดำเนินการก่อสร้างขยายถนนจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร (ขยายเขตทางขนาด 50 เมตร) ช่วงที่ 2 ช่วง กม. 12+ 700 ถึง กม.13+378 ซึ่งปัจจุบันเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร จึงไม่ได้ดำเนินการขยายคันทางเดิม เป็นการดำเนินการปรับปรุงผิวทางและระบบสาธารณูปโภค และใช้เขตทางเดิม ขนาด 30 เมตร สำหรับการกำหนดขนาดของเขตทางนั้น ได้พิจารณาตามลักษณะภูมิประเทศ หลักเกณฑ์ตามมาตรฐานทางวิศวกรรม และจากการหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความสอดคล้องและสามารถรองรับการใช้งานในอนาคต
ทั้งนี้ จากการพิจารณาคัดเลือกรูปแบบเกาะกลางถนนที่มีความเหมาะสมของโครงการ แบ่งตามลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ 2 พื้นที่นั้น สามารถสรุปได้ดังนี้ 1. พื้นที่ในเขตชุมชน ออกแบบเป็นเกาะกลางแบบยก (Raised Median) 2. พื้นที่นอกเขตชุมชน ออกแบบเกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีต (Barrier Median) นอกจากนี้ได้มีการออกแบบระบบระบายน้ำ ระบบสาธารณูปโภคและองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวก และรวดเร็ว พร้อมทั้งคำนึงถึงความปลอดภัย ลดผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชนโดยรอบ และตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในแนวสายทางโครงการ