อุบลราชธานี-ม.อุบลฯ จัดเสวนาเพื่อเป็นพุทธบูชาในโอกาสอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุฯ

อุบลราชธานี-ม.อุบลฯ จัดเสวนาเพื่อเป็นพุทธบูชาในโอกาสอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุฯ

ภาพ/ข่าว:ศูนย์ข่าวจังหวัดอุบลราชธานี

          มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยศูนย์ศึกษาอินเดีย และ สำนักวิทยบริการ ร่วมกับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี และ สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย และมูลนิธิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ๑๕๐ ปี ชาตกาล จังหวัดอุบลราชธานี ร่วม จัดเสวนาเพื่อเป็นพุทธบูชาในโอกาสอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ ในหัวข้อ “จากมหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขง ประวัติพระบรมสารีริกธาตุ การเดินทางจากอดีตสู่ปัจจุบัน” โดยมี ดร.ปิยะมาศ ทัพมงคล รองผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และนายธนภัทร จิตสุทธิผล ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน รับเกียรติจาก Shri Gurmeet Singh Chawla อธิบดี กระทรวงวัฒนธรรม สาธารณรัฐอินเดีย เป็นประธานเปิดการเสวนา ซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คุณนลินทิพย์ น้อยวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
          ดร.ปิยะมาศ ทัพมงคล รองผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางแห่งการเชื่อมโยงลุ่มน้ำโขงตอนล่าง อีกทั้งหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่พบเห็นได้ในพื้นที่ และแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี สะท้อนถึงความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมของอินเดียที่ปรากฏในลุ่มน้ำโขง ศูนย์ศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นศูนย์บริการวิชาการ วิจัย และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมด้านอินเดียศึกษาแห่งเดียวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้จัดการเสวนาทางวิชาการเพื่อเป็นพุทธบูชาในโอกาสอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ ในหัวข้อ “จากมหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขง ประวัติพระบรมสารีริกธาตุ การเดินทางจากอดีตสู่ปัจจุบัน” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย Prof.Amarjiva Lochan, University of Delhi คุณเชาวนี เหล็กกล้า หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี คุณพงษ์พิศิษฏ์ กรมขันธ์ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี ดำเนินรายการและแปลโดย ดร.อัญชลี แสงทอง (มรภ.อบ.) และ ดร.สิวะกรณ์ กฤษณสุวรรณ (มอบ.) ศูนย์ศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
          นอกจากนี้ ศูนย์ศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานียังจัดการแสดงนิทรรศการ “ตามรอยพระศาสดาและพุทธสถานในอินเดีย” The Buddhist Exhibition “Buddha Carika – in Footsteps of Buddha” เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมตลอดเดือนมีนาคม 2567 อีกด้วย

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!