สิงห์บุรี-จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์”
ภาพ/ข่าว:จิระแมน ขำฉ่า
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 มีนาคม 2567 นายสุเมธ ธีรนิติ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี เป็นประธานในพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ให้แก่ประชาชนชาวสิงห์บุรี จำนวน 46 ราย ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด จำนวน 22 หน่วยงาน นายอำเภอ จำนวน 6 อำเภอ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 5 หน่วยงาน ผู้ประกอบการประเภทผ้า ช่างทอ และงานหัตถกรรม จำนวน 13 ราย เพื่อนำไปสร้างสรรค์ชิ้นงาน พัฒนา ต่อยอด ตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของท้องถิ่นสิงห์บุรี ซึ่งเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน และยังเป็นการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายและการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นของไทยให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน โดยมี นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี นางสาววีรวรรณ จันทนเสวี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสิงห์บุรี นางประทีป ตัณฑะตะนัย พัฒนาการจังหวัดสิงห์บุรี หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดสิงห์บุรี และพัฒนาการอำเภอทั้ง 6 อำเภอเข้าร่วมพิธี ณ เรือนไทยหัตถศิลป์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
องค์ประกอบลายพระราชทาน “ลายสิริวชิราภรณ์” โดยมีลายพระราชทานหลัก จำนวน 4 ลาย ได้แก่ “ลายวชิรภักดิ์” ที่ได้รับแรงบันดาลพระทัยจากอักษร “ว” ซึ่งเป็นอักษรพระปรมาภิไธยตัวแรกในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว, “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 2567” ที่ทรงออกแบบต่อยอดจากลายพระราชทานลำดับแรก “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”, “ลายหัวใจ” สื่อถึงความรักและความห่วงใยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยในทุกภาคทั่วประเทศ และ “ลายดอกรักราษฎร์ภักดี” โดยทรงออกแบบต่อยอดจากลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” สื่อถึงความรักและความภักดีของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว, ประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา, ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลัก ทั้ง 4 ลายนี้ ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง ยังผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป