ระยอง-สกพอ. สัมมนาสรุปผลศึกษาโครงการ เคาะรูปแบบระบบ Feeder เชื่อมต่อไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินในพื้นที่ EEC
ภาพ/ข่าว:อัจฉรา วิเศษศรี
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 19 มี.ค.67 ที่ห้องสัมมนาหลัก สิรินพลา ชั้น 1 โรงแรมสิรินพลา รีสอร์ท แอนท์ เรสเตอรองท์ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้จัดการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ครั้งที่ 3 : สรุปผลการศึกษาโครงการ) โครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นของระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงกับการพัฒนารถไฟ ความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินกับการพัฒนาเมืองใหม่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีนายเรืองฤทธิ์ ประกอบธรรม ปลัดจังหวัดระยอง เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาโครงการ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุม ได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ โดยมีผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการ และประชาชนเข้าร่วมประชุมด้วย
สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งที่ 3 ทาง สกพอ. และที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอสรุปผลการศึกษาโครงการ มีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้ โดยจากผลการศึกษาพบว่า เส้นทางโครงข่าย ‘เมืองใหม่ EEC – สถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา’ มีแนวเส้นทางที่เหมาะสมในการออกแบบรูปแบบแนวคิดเบื้องต้นเพื่อเป็น ‘โครงการนำร่อง’ ของโครงการ โดยแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมนั้น มีจุดเริ่มต้นโครงการในพื้นที่เมืองใหม่ EEC จากนั้นยกระดับเหนือทางหลวงหมายเลข 331 ใกล้กับสถานีตำรวจภูธรห้วยใหญ่ จากนั้น ยกระดับประชิดเขตมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ช่วงเขาชีจรรย์ถึงเขาชีโอน แล้วยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 3 หรือถนนสุขุมวิท ไปสิ้นสุดที่สถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 20 กิโลเมตร โดยรูปแบบระบบขนส่งมวลชนรองที่จะนำมาให้บริการ คือ ‘ระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก’ ซึ่งมีความเหมาะสม ทั้งในด้านวิศวกรรม การลงทุน สิ่งแวดล้อม และการถ่ายทอดเทคโนโลยี สำหรับการออกแบบสถานี ได้ออกแบบเป็น 3 รูปแบบ คือ แบบ A เป็นสถานียกระดับ แบบ B เป็นสถานีระดับพื้น และแบบ C เป็นสถานียกระดับ ที่จำกัดความสูงไม่เกิน 15 เมตร โดยมีการออกแบบที่สวยงามทันสมัย พร้อมคำนึงถึงการใช้งานของประชาชน การเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ และความปลอดภัยในการอพยพผู้โดยสารในกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น แต่เนื่องด้วยระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็กมีมูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูง กอรปกับผู้โดยสารในระยะแรกของการพัฒนาโครงการยังมีปริมาณไม่มากนัก ทำให้ยังไม่มีความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นทางโครงการจึงเสนอให้นำรถโดยสารไฟฟ้า หรือ EV Bus มาให้บริการในระยะแรกก่อน จากนั้นค่อยปรับเปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้าล้อเหล็ก เมื่อปริมาณผู้โดยสารมีปริมาณสูงขี้นในอนาคต ซึ่งจะใช้เงินลงทุนต่ำกว่าการพัฒนาเป็นรถไฟฟ้าล้อเหล็กตั้งแต่เริ่มโครงการ โดยแนวเส้นทางของรถโดยสาร EV Bus จะใช้แนวถนนเดิมที่มีอยู่ โดยเริ่มจากเมืองใหม่ EEC จากนั้นจะใช้เลี้ยวซ้ายใช้แนวเส้นทางของทางหลวงหมายเลข 331 มุ่งหน้าไปทางทิศใต้ จนถึงแยกเกษมพล เลี้ยวซ้ายเพื่อใช้แนวเส้นทางของทางหลวงหมายเลข 332 มุ่งหน้าทิศตะวันออกเฉียงใต้จนบรรจบกับถนนสุขุมวิทบริเวณ แยกอู่ตะเภาจากนั้นเลี้ยวซ้ายใช้แนวเส้นทางถนนสุขุมวิทมุ่งหน้าทิศตะวันออกและกลับรถโดยใช้ทางลอดบริเวณทางแยกต่างระดับอู่ตะเภา จากนั้นเลี้ยวซ้ายใช้แนวเส้นทางถนนพลา ไปสิ้นสุดที่สถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 21 กิโลเมตร ทั้งนี้ด้านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ IEE พบว่ามีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของโครงการอย่างมีนัยสำคัญ 16 ปัจจัย ซึ่งทางโครงการได้ดำเนินการจัดทำร่างมาตรการ ป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการให้เหลือน้อยที่สุด ภายหลังการประชุมครั้งนี้ สกพอ.และที่ปรึกษาโครงการฯ จะดำเนินการรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม นำมาพิจารณาประกอบการจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาโครงการให้ครอบคลุมสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่โครงการให้มากที่สุด จากนั้นจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ได้แก่ การสำรวจและออกแบบรายละเอียด การพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และการก่อสร้างโครงการ คาดว่าจะใช้ระยะเวลารวมทั้งหมดประมาณ 7-10 ปี จึงสามารถเปิดให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.eec-smartcity-feeder.com
นายจาดูร แผ่นสุวรรณ วิศวกรโครงการฯ กล่าวว่า ข้อสรุปคือทาง สกพอ. ก็จะมีการออกแบบสร้างระบบขนส่งสาธารณะรอง ซึ่งได้ศึกษาแล้วเป็นระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก จะเป็นการเชื่อมโยงการเดินทางของเมืองใหม่ที่จะมีการพัฒนาในอนาคตของ สกพอ. เชื่อมโยงมาที่ตัวสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาเป็นสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่ รวมทั้งมีการพัฒนาเป็นเมืองมหานครการบิน เพราะฉะนั้นระบบการขนส่งสาธารณะรอง ก็จะออกแบบเป็นระบบไฟฟ้าเชื่อมเมืองใหม่ที่ห้วยใหญ่ บางละมุงมาที่มหานครการบิน สนามบินอู่ตะเภา มีระยะทาง 21 กม. ซึ่งแนวเส้นทางก็จะออกแบบเป็นล้อเหล็ก เป็นรถไฟฟ้าขนาด 2 ราง มีถนนทางบริการ 2 ช่องทางจราจร และจะมีการเวนคืนตลอดแนวเส้นทางตั้งแต่ อ.บางละมุง อ.สัตหีบ ถึง อ.บ้านฉาง ส่วนระยะเวลาการดำเนินการเร็วสุดนั้น หากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน และมีการก่อสร้างตัวเมืองใหม่แล้ว จะใช้ระยะเวลาพัฒนาอย่างน้อย 7 ปี ส่วนปัญหาที่พบคือ การใช้พื้นที่เวรคืนค่อนข้างเยอะ แต่ก็ได้มีการหลบเลี่ยงพื้นที่อาศัยของ ปชช. ซึ่งส่วนใหญ่พื้นที่เวรคืนจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ไร่มันสำปะหลัง ไร่สับปะรด เป็นหลัก ส่วนข้อกังวลของ ปชช. ก็จะมีข้อห่วงใยในเรื่องของค่าตอบแทนค่าเวรคืน ซึ่งทาง สกพอ. ก็จะยึด พ.ร.บ.เวรคืนตามกฎหมาย เป็นหลัก