ชลบุรี-ฝุ่นตลบ ชาวบ้านแห่รับผ้ายันต์เจ้าคุณธงชัยเนืองแน่นสุดชุลมุนในพิธียกช่อฟ้าอุโบสถวัดเขาบางพระอย่างยิ่งใหญ่
ภาพ/ข่าว:นิราช ทิพย์ศรี
วันที่ 21 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดเขาบางพระ ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ชาวบ้านทั่วสารทิศร่วมพิธีบวงสรวงเทวดา อารักษ์ ปกปักรักษา ในงานพิธียกช่อฟ้าอุโบสถวัดเขาบางพระ โดยมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) เจ้าคุณธงชัย เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นประธานในพิธีฝ่ายสงฆ์ นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานในพิธีฝ่ายาฆราวาส พร้อมด้วย นาย วรจักร สถาพรภิญโญ นายอำเภอเมืองชลบุรี นายลออง พยนต์ นายกเทศมนตรีตำบล นายเอกสิทธิ์ อ่ำฉอ้อน ส.อบจ.ชลบุรี และ นายสมเกียรติ เกตุวัตถา ส.อบจ.ชลบุรี เข้าร่วมในพิธี พร้อมแขกเกียรติประชาชน ในครั้งนี้ โดยมีพระครูปลัด อังกูร โชตโก เจ้าอาวาสวัดเขาบางพระ เลขานุการเจ้าคณะตำบลบึง ให้การต้อนรับ
โดย ท่านเจ้าคุณธงชัย ได้สุหร่าย เจิม ปิดทอง คล้องพวงมาลัย แล้วผูกผ้าสีชมพูบนช่อฟ้าทั้ง 4 ช่อ จากนั้นเจ้าคุณธงชัยถือสายสูตรยกช่อฟ้า ซึ่งโยงไปถึงผู้ร่วมพิธี แล้วทำการยกช่อฟ้าขึ้นประดิษฐานบนหลังคาพระอุโบสถด้วยรถเครน ขณะที่พระสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์เจริญชัยมงคลคาถา ลั่นฆ้องชัย หลังเสร็จพิธียกช่อฟ้าอุโบสถ ท่านเจ้าคุณธงชัย มอบหมายให้ พระครูปลัด อังกูร โชตโก เจ้าอาวาสวัดเขาบางพระ แจกผ้ายัน เจ้าพ่อเขาใหญ่ท่ามกลางประชาชนจำนวนมากรอรับผ้ายันต์เจ้าคุณธงชัย และต่างก็กรูกันเข้ามารอรับผ้ายันต์มงคล เกิดความชุลมุนโกลาหลเป็นอย่างมาก จนเจ้าหน้าที่ต้องจัดระเบียบให้มีการเข้าแถวรับผ้ายันต์มงคลทีละคน ใช้เวลานานประมาณ 1 ชั่วโมง จึงแจกผ้ายันต์มงคลเสร็จสิ้น
โดยอุโบสถวัดเขาบางพระ ได้ก่อสร้างปี พ.ศ.2490 มีอายุ 77 ปี ผ่านการบูรณะมาทั้งสิ้น 3 ครั้ง โดยครั้งแรกบูรณะ ในปี พ.ศ.2505 บูรณะครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2548 และบูรณะครั้งที่ 3 เริ่มบูรณะอุโบสถใน วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2565 ซึ่งจะมีพิธียกช่อฟ้าอุโบสถวัดเขาบางพระ วันเสาร์ที่ 20 เมษายน 2567 สำหรับพิธีการยกฉัตร ยกช่อฟ้า ถือว่าเป็นพิธีสำคัญเนื่องจากเป็นการยกส่วนบนสุดของอาคาร ศาสนสถานหรือพระราชวัง โดยมีคติความเชื่อว่า หากใครได้ร่วมบุญยกช่อฟ้าแล้ว นับว่าเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นส่วนสูงสุด และถือว่าเป็นการทำให้อาคารสมบูรณ์ ตามความเชื่อถือว่าบุญยกช่อฟ้าเป็นบุญอันศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่ ซึ่งอานิสงส์บุญ จะทำให้ชะตาชีวิตสูงส่งไม่ตกต่ำ มีจิตใจใฝ่ดี ใฝ่ความก้าวหน้ามีเกียรติ มีความสง่างาม นอกจากนี้ ในปัจจุบัน อุโบสถมิเพียงแต่จะเป็นสถานที่ที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมร่วมกันเท่านั้น แต่ยังเป็นศาสนสถานที่พุทธศาสนิกชนใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมอื่นๆ ดังนั้นการร่วมสร้างอุโบสถนั้น เชื่อว่าผู้ทำจะได้อานิสงส์มาก เพราะถือว่าถวายเป็นพุทธบูชา หรือการบูชาคุณพระพุทธเจ้า และเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่สืบไป