ศรีสะเกษ-สทน.จับมือ 3 มรภ. อีสานใต้ อบรมพร้อมให้คำปรึกษาผู้ประกอบการเฟ้นหาสุดยอดอาหารพื้นถิ่นและอาหารฟังก์ชั่น

ศรีสะเกษ-สทน.จับมือ 3 มรภ. อีสานใต้ อบรมพร้อมให้คำปรึกษาผู้ประกอบการเฟ้นหาสุดยอดอาหารพื้นถิ่นและอาหารฟังก์ชั่น

ภาพ/ข่าว:ศิริเกษ หมายสุข

          สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้แก่ มรภ.ศรีสะเกษ มรภ.สุรินทร์ และ มรภ.บุรีรัมย์ จัดกิจกรรม “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่นและอาหารฟังก์ชั่น ด้วยการฉายรังสี” เมื่อระหว่างวันที่ 22 – 25 เมษายน 2567 รวม 3 ครั้ง (3 จังหวัด) เพื่อให้ความรู้เรื่อง “การเพิ่มมูลค่าอาหารพื้นถิ่นและอาหารฟังก์ชั่นด้วยการฉายรังสี”กับผู้ประกอบการ รวมทั้งให้คำปรึกษาเชิงลึก และรับผลิตภัณฑ์ตัวอย่างจากผู้ประกอบการ เพื่อเฟ้นหาผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ คว้าสุดยอดผลิตภัณฑ์ “Product Champion” ต่อไป
          นายหาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า อาหารฉายรังสี เป็นกระบวนการถนอมอาหารรูปแบบหนึ่ง โดยผ่านพลังงานไปยังอาหาร เพื่อทำลายเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและยืดอายุอาหาร โดยไม่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี อาหารฉายรังสีจึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ สทน. จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ให้การส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตอาหารพื้นถิ่น และกลุ่มผู้ประกอบการ SME มาตั้งแต่ปี 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารฉายรังสีให้กับผู้ประกอบการ และยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในด้านคุณภาพและความปลอดภัย ด้วย “เทคโนโลยีการฉายรังสี”
          ในปี 2567 สทน. ได้ร่วมกับ มรภ.ศรีสะเกษ มรภ.สุรินทร์ และ มรภ.บุรีรัมย์ จัดกิจกรรมขึ้น โดยได้เพิ่มประเภทผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารฟังก์ชั่น หรือ Functional Foods เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพด้วย โดยกำหนดจัดกิจกรรม “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่นและอาหารฟังก์ชั่นด้วยการฉายรังสี” ในระหว่างวันที่ 22 – 25 เมษายน 2567 รวม 3 ครั้ง (จังหวัด) มีผู้ประกอบการนำผลิตภัณฑ์มาขอรับคำปรึกษาจากทีมนักวิจัยจากสทน. และผ่านเข้ารอบ รวมจำนวน 72 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นประเภทอาหารพื้นถิ่น 49 ผลิตภัณฑ์ ประเภทอาหารฟังก์ชั่น 23 ผลิตภัณฑ์ โดยจังหวัดศรีสะเกษ มีผลิตภัณฑ์ทั้งสองประเภทรวม 25 ผลิตภัณฑ์ จังหวัดสุรินทร์รวม 30 ผลิตภัณฑ์ จังหวัดบุรีรัมย์รวม 17 ผลิตภัณฑ์ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจในประเภทอาหารพื้นถิ่น ได้แก่ แหนมเห็ด น้ำพริกนรกดักแด้ ผงปูนาแท้ น้ำพริกจิ้งหรีด ส่วนประเภทอาหารฟังก์ชั่น ได้แก่ ข้าวเม่าซีเรียล แป้งข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวผงชงพร้อมดื่ม ผงจมูกข้าวหอมมะลิ อาหารให้พลังงานนักกีฬา ฯลฯ
          ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการอบรมและให้คำปรึกษาเชิงลึกกับผู้ประกอบการทั้ง 3 จังหวัดแล้ว ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันพิจารณาเฟ้นหาสุดยอดผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นและอาหารฟังก์ชั่น หรือ Product Champion โดย สทน.คาดหวังว่าการจัดกิจกรรมในโครงการฯ นี้จะช่วยแก้ปัญหากระบวนการผลิต และช่วยยืดอายุผลิตภัณฑ์ ด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสี รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่น และอาหารฟังก์ชั่นที่สามารถต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!