เชียงใหม่-ชี้แจงกรณี”บ้านแม่เกิบ”ถูกรัฐทอดทิ้ง ไม่เป็นความจริง
ภาพ-ข่าว:ศูนย์ข่าวเฉพาะกิจจังหวัดเชียงใหม่
รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ชี้แจงกรณีข่าว บ้านแม่เกิบ ถูกรัฐละเลยทอดทิ้ง ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด มีหน่วยงานของรัฐเข้าช่วยเหลือมาก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยสภาพหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1A ซึ่งกรมป่าไม้ได้ช่วยชาวบ้านตามหลักคุณธรรม โดยให้ร่วมเป็นเครือข่ายป้องก้นไฟป่า พร้อมจัดหาพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ให้นำใช้ในหมู่บ้านโดยได้รับอนุญาตให้ติดตั้งได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 และขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้ง
จังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงกรณีหมู่บ้านบ้านแม่เกิบ สื่อโซเชียลได้วิพากษ์การทำงานของรัฐ ในพื้นที่อำเภออมก๋อย กรณีหมู่บ้านกลางหุบเขา ที่บ้านแม่เกิบว่า ทางจังหวัดได้มอบหมายให้ อำเภออมก๋อย ตรวจสอบข้อมูล การให้บริการของรัฐในพื้นที่หมู่บ้านแม่เกิบที่ได้ดำเนินการแล้วก่อนหน้า พบข้อมูลที่เล่าผ่านสื่อโซเชียลมีความคลาดเคลื่อนจากความจริง จึงขอนำข้อมูลที่ถูกต้องและที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้าแล้วในพื้นที่ แจ้งให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้ทราบ พร้อม ขอความร่วมมือประชาชนในการรับข้อมูลและการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นต่างๆ ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงหรืออาจไปพาดพิงถึงบุคคลอื่น ซึ่งจะมีโทษตามกฎหมายได้
นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวชี้แจงในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ของจังหวัดเชียงใหม่ว่า จากการที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐในโลกโซเชียลในประเด็น กรณีที่มีกระแสหมู่บ้านแม่เกิบ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ นั้น ทางจังหวัดจึงได้สั่งการให้ทางอำเภออมก๋อย เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว โดยพบว่าบ้านแม่เกิบ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอมก๋อย มีพื้นที่หย่อมบ้านอีก 2 หย่อมบ้าน มีระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภออมก๋อย 82 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ 262 กิโลเมตร เส้นทางเข้าสู่หมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นถนนลูกรังสลับกับถนนคอนกรีต มีประชากรอาศัยอยู่รวมทั้ง 3 หย่อมบ้าน โดยหน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามาดำเนินการพัฒนาพื้นที่ เช่น โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร โครงการส่วนพระองค์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการประปาหมู่บ้านขององค์การบริหารส่วนตำบลนาเกียน โครงการติดตั้งอินเตอร์เน็ตประชารัฐของ กสทช. รวมถึงโครงการด้านสาธารณูปโภคอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้รัฐได้จัดกิจกรรมพัฒนาอาชีพระยะสั้น ศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านแม่เกิบ (ศศช.) รวมถึงจัดการศึกษาและด้านสุขภาพที่มีระบบการเรียนการสอนที่เด็ก เยาวชนสามารถเข้าถึงได้ และเด็กทุกคนได้รับอาหารตามหลักโภชนาการอย่างเพียงพอ สำหรับเรื่องระบบไฟฟ้าแสงสว่างนั้น ทางกระทรวงพลังงานได้เข้าติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้ทุกหลังคาเรือนแล้วตั้งแต่ปี 2548 แต่ด้วยเส้นทางคมนาคมเป็นเขาสูง ห่างไกล จึงอาจทำให้การรับบริการจากรัฐในบางกรณีมีอุปสรรคบ้าง
รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดเชียงใหม่ ขอขอบคุณทุกท่าน ทุกองค์กร ที่เข้ามาสร้างคุณประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ และพร้อมให้การต้อนรับและสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยขณะนี้ทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ (พมจ.เชียงใหม่) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและประสานขอความร่วมมือไปยังมูลนิธิต่าง ๆ ในการขอรับการสนับสนุนตามความจำเป็น เพื่อนำไปมอบที่บ้านแม่เกิบและชุมชนต่าง ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนในการเปิดรับข้อมูลที่รอบด้าน ก่อนการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงหรือพาดพิงถึงบุคคลอื่น ในทางที่เสียหาย หากมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ จะต้องมีความผิดตามกฎหมายได้
ด้าน นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวถึงความเป็นมาของหมู่บ้านแม่เกิบ ว่า เป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ที่หมู่ 15 ตำบลนาเกรียน อำเภออมก๋อย เป็นหมู่บ้านแยกจากบ้านแม่ฮอง หมู่ 1 ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2535 โดยหมู่บ้านตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอมก๋อย ในเขตคุณภาพลุ่มน้ำ 1A อญุ่ในเขตจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินป้าไม้โซน C เขตป่าอนุรักษ์ มีราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงอาศัยในพื้นที่ 41 ครัวเรือน มีประชากร 177 คน การเข้าถึงหมู่บ้านต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ เนื่องจากเป็นที่สูงชัน ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาข้าวไร่หมุนเวียน และรับจ้างทั่วไป โดยพื้นที่หมู่บ้านอยู่ในพื้นที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนบ้านแม่เกิบ (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง) ซึ่งได้ยื่นคำขอใช้ประโยชน์พื้นที่ตามแบบ ม.13/1 แห่ง พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมป่าไม้ ได้จัดทำโครงการเพื่อสร้างเครือข่ายป้องกันไฟป่า ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนร่วมเฝ้าระวังไฟป่าในพื้นที่ และเพื่อให้ภาครัฐได้เข้าช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง พร้อมกันนี้ ทางกรมป่าไม้ได้ดำเนินโครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ร่วทกับ อบต.ในพื้นที่ จากการสนับสนุนของกองทุนอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ในท้องที่ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จำนวน 1,092 ครัวเรือน และกรมป่าไม้ได้อนุมัคิให้ดำเนินโครงการแล้ว เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องจากนี้ไปจนถึงปี 2564 ทั้งนี้ ทางกรมป่าไม้ได้แจ้งให้พี่น้องประชาชนตลอดจนหน่วยงานในท้องถิ่นได้ทราบความคืบหน้าแล้ว