เชียงใหม่-สว.ติดตามการขับเคลื่อนโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย
ข่าว/ภาพ:นันธิกา กิจปาโล/ศราวุธ เจิมจันทร์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
สมาชิกวุฒิสภาและคณะ ประชุมติดตามรับฟังปัญหา และหาแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลและเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน
วันนี้ (3 เม.ย. 64) สมาชิกวุฒิสภา นำโดยพลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์, พันตำรวจตรี ยงยุทธ สาระสมบัติ, นายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ, พลเอก ทวีป เนตรนิยม, นายจิรชัย มูลทองโร่ย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ และคณะ ประชุม ติดตามรับฟังการดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจ สังคม รายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล จังหวัดเชียงใหม่ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และคณะผู้บริหารจากมหาวิทยาลัย 4 มหาวิทยาลัยของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ดำเนินโครงการฯ ร่วมให้ข้อมูล โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 135 ตำบล 8 มหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน และแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งมหาวิทยาลัยจะดำเนินการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในแต่ละพื้นที่ นำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในตำบล ผ่านการจ้างงานนิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ที่จะเข้าไปช่วยในการพัฒนาตำบล และสามารถยกระดับเศรษฐกิจ สังคมรายตำบล จนนำไปสู่การลดปัญหาความยากจนได้ โดยในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ มีมหาวิทยาลัยที่อยู่ในโครงการจำนวน 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการอนุมัติพื้นที่ดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด 50 ตำบล ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน และจังหวัดพิษณุโลก และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 1,000 อัตรา โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มุ่งเน้นในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมต้นแบบเพื่อชุมชน และร่วมพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีพื้นที่ดำเนินงาน 69 ตำบล ครอบคลุม 2 จังหวัด คือจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่รับผิดชอบ 44 ตำบล สร้างงานกว่า 800 ตำแหน่ง ภายใต้แนวคิดเยาวชนสร้างชาติ ส่วนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มีพื้นที่ดำเนินงานครอบคลุม 11 จังหวัด 70 ตำบล ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 36 ตำบล 13 อำเภอ และได้มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน พร้อมจัดทำระบบเพื่อรายงานผลการดำเนินงานของผู้ถูกจ้างงานทั้งหมด และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีพื้นที่ดำเนินงานครอบคลุม 60 ตำบล โดยมุ่งเน้นด้านการเกษตร อาหาร ภายใต้แนวทางศาสตร์พระราชา และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านพันตำรวจตรี ยงยุทธ สาระสมบัติ ที่ปรึกษาคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) กล่าวว่า การประชุมรับทราบข้อมูลในวันนี้จะเป็นการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกมหาวิทยาลัยในพื้นที่ หาแนวทางการขับเคลื่อน และวิเคราะห์แนวทาง ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ พร้อมเน้นย้ำให้แต่ละมหาวิทยาลัย มีความพร้อม และพัฒนาศักยภาพในทุกด้าน เพื่อสามารถแข่งขันกับประเทศอาเซียนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/