เชียงใหม่-คณะแพทย์ มช.ต่อยอด “บล็อกเชนเพื่อการแพทย์”
ภาพ/ข่าว:ศูนย์ข่าวเฉพาะกิจจังหวัดเชียงใหม่
คณะแพทย์ มช.ผนึก สกสว.ต่อยอด “บล็อกเชนเพื่อการแพทย์”
คณะแพทยศาสตร์ มช. ผนึก สกสว. ยกระดับสู่การพัฒนาด้านบริการใช้เทคโนโลยี “บล็อกเชน(Blockchain)” พัฒนาระบบต้นแบบทางสุขภาพและการแพทย์ นำร่อง รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ก่อนขยายสู่ รพ.เครือข่าย เพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วย หนุนรัฐบาลเร่งสนับสนุนใช้งานระบบให้ รพ.ทั่วภาคเหนือ และทั่วประเทศโดยเร็ว
ศ.เชี่ยวชาญพิเศษ นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผย UCD News ว่า ระบบบล็อกเชน(Blockchain) ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในวงการแพทย์ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีหลายระบบที่นำมาใช้ในวงการแพทย์ก็ตาม ซึ่งระบบใหม่นี้สอดคล้องกับการเร่งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ยุคเทคโนโลยีไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล ประการสำคัญ จ.เชียงใหม่ได้รับการจัดให้เป็นเมืองอัจฉริยะ(Smart city) จึงต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านต่างๆ ประกอบกับเทคโนโลยี “บล็อกเชน” เพื่อวงการแพทย์ยังไม่มีแพร่หลายจึงน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะนำมาให้บริการเพื่อผู้ป่วยจะได้รับความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้นหากแพทย์ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว
สำหรับระบบต้นแบบ “บล็อกเชน” ผ่าน Thai Cleft Link Program ของ “ศูนย์แก้ไขความพิการบริเวณใบหน้า และศีรษะ” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU Craniofacial Center) โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และเครือข่ายโรงพยาบาล เป็นโครงการ “การศึกษาเครื่องมือและกระบวนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การสนับสนุนภายใต้แผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)” วัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการศึกษาเครื่องมือและกระบวนการในการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ
สำหรับตัวอย่างการใช้งาน “บล็อกเชน” ในสมาร์ทซิตี้ เช่น การใช้ฟังก์ชั่นความโปร่งใสของระบบ E-Voting ฟังก์ชั่นการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ ซึ่งนำมาใช้ในระบบซัพพลายเชนฟังก์ชั่นการเชื่อมต่อข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมด้วยฟังก์ชั่นการตรวจสอบบุคคลที่ 3 ในระบบการทำสัญญาแบบ Smart Contract ด้วยระบบ automated ระหว่างหลายฝ่ายที่มีเงื่อนไขตรงตามที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ในส่วนระบบทางด้านสุขภาพและการแพทย์ “บล็อกเชน” สามารถช่วยในการแชร์ข้อมูลของโรงพยาบาลเครือข่าย รวมถึงการใช้งานการติดตามข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยซึ่งเป็นฟังก์ชั่นการเชื่อมต่อข้อมูลข้ามแพลตฟอร์มฟังก์ชันการรักษาความปลอดภัยของความเป็นส่วนตัวของข้อมูล
สำหรับผลดีนั้น ถ้ามีระบบล็อกเชนเข้ามาร่วมใช้งานผ่าน Thai Cleft Link Program ของ “ศูนย์แก้ไขความพิการบริเวณใบหน้า และศีรษะ” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะทำให้วงการแพทย์มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ส่วนผลดีต่อผู้ป่วยนั้นจะช่วยร่นระยะเวลาการมาพบแพทย์ ประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งต่อจากนี้ไปจะสามารถขยายเครือข่ายผ่านระบบบล็อกเชนไปสู่วงกว้างมากขึ้น มีประโยชน์สามารถจัดเก็บข้อมูลอย่างดีด้วยระบบบล็อกเชนนั่นเอง แต่เนื่องจากช่วงนี้ยังเป็นการทดลองมีอุปสรรคอยู่บ้างเล็กน้อย จึงเร่งยกระดับเพื่อให้สามารถขยายสู่โรงพยาบาลเครือข่ายเพื่อมอบสิ่งที่ดีด้านสุขภาพพร้อมดูแลความปลอดภัยของข้อมูลผู้ป่วยทุกคน
สำหรับการต่อยอดโครงการต่อไปนั้นจะใช้เป็นโมเดลต้นแบบของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้งานในระบบการแพทย์ หากทำสำเร็จก็จะสามารถต่อยอดไปสู่โรคอื่นๆ ผลดีคือเกิดความร่วมมือของโรงพยาบาลเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ผลการรักษาผู้ป่วยดีขึ้น รวดเร็วขึ้น ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย สามารถติดตามผลการรักษาได้ทันที
“ขณะนี้เริ่มมีการวางระบบไว้และทำให้เกิดผลจริงบางส่วนแล้ว อีกทั้งยังคิดว่าจะลิ้งค์ประสานงานได้จากแหล่งข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ ส่วนในระยะยาวคิดว่าจะมีส่วนช่วยส่งเสริมด้านการรักษาและการวิจัยในภาพรวมได้ เนื่องจากมีข้อมูลที่มีความสำคัญ ขณะนี้พร้อมนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้งานในโรงพยาบาล พร้อมส่งเสริมและผลักดันให้ขยายผลใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์สาขาอื่นๆ ต่อไปด้วย หากมีความพร้อมเต็มที่แล้วจะขยายสู่โรงพยาบาลอื่นๆ ในเครือข่ายำทั่วภาคเหนือและทั่วประเทศต่อไป”
ผศ.นพ.กฤษณ์ ขวัญเงิน รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า การนำบล็อกเชนมาใช้ในด้านการแพทย์สามารถแก้ไขปัญหาด้านการใช้ข้อมูลร่วมกันได้ โดยมี ประเด็นหลักของการพัฒนาที่จะนำไปขยายเครือข่ายสู่โรงพยาบาลอื่นๆได้ด้วยนั้น คือ การรักษาชั้นความลับของข้อมูลผู้ป่วย เนื่องจากปี 2564 จะมีกฎหมายเรื่องการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้มงวดประกาศใช้ชัดเจน ดังนั้นถ้าบล็อกเชนสามารถรักษาชั้นความลับของผู้ป่วยได้จริงก็จะเกิดประสิทธิภาพในการใช้งานระบบนี้ ให้บุคลากรทางการแพทย์มีความมั่นใจมากขึ้น จึงตัดสินใจนำโครงการดังกล่าวมาแก้ไขปัญหาข้อจำกัดเหล่านี้ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สุดท้ายต่อผู้ป่วยนั่นเอง
โดยเป็นการมองการณ์ไว้ล่วงหน้า ซึ่งศักยภาพของเทคโนโลยีบล็อกเชนถือว่ามีประสิทธิภาพมากเหมาะสำหรับเอามาใช้เพื่อวงการแพทย์ โดยเลือกนำเอามาใช้งานผ่าน Thai Cleft Link Program ของ “ศูนย์แก้ไขความพิการบริเวณใบหน้า และศีรษะ” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ เฟสแรกทดสอบระบบโดยแยกออกมาจากระบบกลางของโรงพยาบาล หากไม่มีปัญหาในการทดสอบระบบลิ้งค์จะเร่งนำเสนอผู้บริหารของโรงพยาบาลเพื่อนำข้อมูลลิ้งค์กับระบบส่วนกลางของโรงพยาบาลโดยเร็วต่อไป พร้อมกับขยายสู่โรงพยาบาลเครือข่ายทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน
ทางด้านข้อเป็นห่วงว่าจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยและการวินิจฉัยโรคของแพทย์ได้อย่างไรนั้น ผศ.นพ.กฤษณ์ กล่าวว่า จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล ผู้ป่วยโรคอื่นๆ จะได้อานิสงส์ตามไปด้วย ประการสำคัญจะประหยัดเวลาและต้นทุนในการสร้างโปรแกรมเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างแต่ละโรงพยาบาล “หากบล็อกเชนสามารถปลดล็อคข้อจำกัดในการส่งผ่านข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลได้จะเป็นการพลิกโฉมต่อการพัฒนาเทคโนโลยีให้บริการด้านการแพทย์กับโรงพยาบาลต่างๆ ของไทย แต่ปัจจุบันยังปรากฎว่าไม่มีการยินยอมให้ส่งข้อมูลผ่านต่อกัน หากบล็อกเชนสามารถทำได้ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ประการหนึ่งนั้นพบว่าระบบนี้มีผู้นำไปใช้เกี่ยวกับด้านการเงินมาแล้วพบว่าประสบความสำเร็จด้วยดี”
ด้านดร.ปิยะนุช ธูปถมพงศ์ หัวหน้าโครงการ “การศึกษาเครื่องมือและกระบวนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การสนับสนุนภายใต้แผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)” กล่าวว่า เป็นการจัดทำวิจัยต้นแบบเทคโนโลยีบล็อกเชนไปทดลองใช้งานกับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เน้นเพื่อการจัดเก็บและบริการข้อมูลเกี่ยวกับเวชระเบียนของผู้ป่วยที่มาทำการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า บล็อกเชน จะมีประสิทธิภาพการจัดเก็บข้อมูลที่มีมาตรฐาน แต่หากสามารถลิ้งค์ข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลร่วมกันได้จะเกิดผลดีต่อหลายด้านทั้งต่อผู้ป่วย และการวินิจฉัยโรคเพื่อประสิทธิภาพการรักษาของแพทย์
“ช่วงที่ผ่านมาผู้ป่วยหรือญาติจะต้องถือข้อมูลไปให้แพทย์วินิจฉัยอาการ จึงเกิดความล่าช้าไม่ทันการณ์ ระบบบล็อกเชนจึงเป็นทางเลือกใหม่ในภาคปฏิบัติโดยเป็นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระบบต้นแบบด้วยการใช้บล็อกเชนเพื่อการแพทย์ ระหว่างมช.กับ สกสว. ซึ่งหลังจากพัฒนาได้เต็มประสิทธิภาพ ใช้งานได้ดีแล้วจะขยายผลต่อให้สมาคมความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะ แห่งประเทศไทย นำไปใช้เชื่อมต่อโรงพยาบาลทั่วประเทศ ส่วนในภาคปฏิบัติหากทำเรื่องขออนุมัติผ่านระบบจะดำเนินการลิ้งค์ข้อมูลผู้ป่วยรายนั้นๆให้ถึงมือหมอได้ทันที หากผู้ป่วยรายใดไม่อนุมัติคนอื่นๆ ก็จะไม่สามารถเห็นข้อมูลของผู้ป่วยรายนั้นได้ ซึ่งหลายประเทศมีใช้งานกันแล้ว แต่ในเมืองไทยยังไม่มีการใช้ระบบนี้ในโรงพยาบาล จึงถือเป็นการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้บริหารจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง”
ทั้งนี้ในการสำรวจข้อมูลจากผู้ใช้เป้าหมายในเมืองไทย ซึ่งประกอบด้วย Startup และผู้บริหารด้านไอทีที่มีอำนาจตัดสินใจในหน่วยงาน องค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ในเครือข่ายของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พบว่าผู้ใช้เป้าหมายมีความรู้เบื้องต้นในเรื่องความสามารถของ Blockchain และทราบถึงแนวทางการนำเอามาใช้งาน หากแต่ยังไม่มีความมั่นใจในการนำมาใช้งานจริง ตลอดจนราคาของการพัฒนาระบบมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาการใช้งานด้านเทคโนโลยี Blockchain ในประเทศไทย จึงต้องสร้างการรับรู้ และต้องการทดลองใช้งานเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และนำไปสู่การนำเทคโนโลยี Blockchain มาพัฒนาเป็นระบบเพื่อใช้งานได้จริงโดยเร็วต่อไป