เปิดตำนาน พระเครื่องล้ำค่า..”สมเด็จพระแก้ว 2411″
เรื่องโดย:อริย์ธัช พรอัศวโยธิน
ขอบคุณข้อมูล:ส่วนหนึ่งจากหนังสือ พระพุทธรัตนมหามุนี (หลวงพ่อพระแก้ว)
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
ขอบคุณภาพและข้อมูล:ผอ.สิทธิชัย คุ้มอนุวงศ์
ตำนาน พระเครื่องสมเด็จพระแก้ว 2411
หรือพระสมเด็จฉัพพรรณรังสี / พระสมเด็จสีรุ้ง
“สมเด็จพระแก้ว 2411 พระครื่องสูงศักดิ์ จักครอบครองได้ ต้องเป็นผู้มีบุญญา วาสนา หากผู้ใดได้ไว้ครอบครองบูชาแล้วไซร้ ต้องประพฤติตัวให้ดี ไม่ผิดทำนองครองธรรม ไม่คดโกงผู้ใด ไม่ก่อกรรมทำชั่ว จักทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ มีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป ”
กล่าวย้อนไปเมื่อปี พุทธศักราช 2400 ครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเสวยราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ ตามคำปรึกษายินยอมของเจ้านายขุนนางที่มาประชุมกันครั้งกระนั้น ซึ่งฝ่ายสงฆ์มหาเถระมี สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นประธาน ฝ่ายคณะสงฆ์มี กรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ เป็นประธาน ฝ่ายเจ้านายมี กรมพระเทวศวัชรินทร์ เจ้านายผู้มีอาวุโสสูงสุด เป็นประธาน ด้านฝ่ายขุนนางมี เจ้าพระยาศรีสุริยะวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นประธาน และเป็นประธานใหญ่ในที่ประชุมนั้น โดยที่ประชุมเจ้านาย ขุนนางและพระสงฆ์ ได้มีสโมสรสันนิบาต ว่ายกราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ ตุลาคม พ.ศ. 2411 โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ และให้เจ้าพระยาศรีสุริยะวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
ครั้งกระนั้น เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ว่าราชการกรมท่าหรือกระทรวงการต่างประเทศในเวลาต่อมา ได้คิดสร้างพระเครื่องขึ้นเป็นที่ระลึกในการเสด็จขึ้นเสวยราชย์ ใน พ.ศ.2411 โดยกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตสร้างขึ้นตามแบบ พระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งมีแบบพิมพ์อยู่แล้วที่วัดระฆัง และให้สร้างแบบพิมพ์ขึ้นมาใหม่บ้าง แต่ให้มีแบบพิมพ์ตามทรงนิยมในเวลานั้น แต่เนื้อพระนั้นทำด้วยผงปูนขาว ผงตะไบทอง ผงแก้วทราย จากหาดทราบเมืองพัทยา ชลบุรี และให้สร้างเป็นพระฉัพพรรณรังสี คือมีสี 6 ประการ คือ เป็น 6 สี จากรังสีที่พระพุทธองค์เปล่งแสดงปาฏิหาริย์ปราบมาร คือ สีขาว สีแดง สีแสด สีเขียว สีฟ้า มีสีสลับในองค์เดียวกัน
สำหรับพระสงฆ์ที่อาราธนากระทำพิธีพุทธาภิเษกที่พระอุโบสถวัดพระแก้ว คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) กรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธ์ (สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์) พระพุทธบาทปิลันธน์ (สมเด็จพระพุฒาจารย์ ม.จ.ทัต เสนีย์วงศ์) และ พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในทาง สมถวิปัสสนาในสมัยนั้น รวม 108 รูป
พระเครื่องรุ่นนี้ยังมีความพิเศษ ด้วยการประทับเครื่องหมายทางราชการว่าเป็นพระเครื่องของหลวง คือด้านหลังมีการประทับตราครุฑ ตราช้าง ตรามงกุฎ ตราฉัตร 7 ชั้น และ ตราพระปรมาภิไธย จปร.โดยพระเครื่องทุกองค์จะมีส่วนผสมสำคัญ คือ ผงทองคำ ผงตะไบทอง ผงตะไบแก้ว ผสมในเนื้อพระสมเด็จรุ่นนี้ ไม่มีพระสมเด็จรุ่นไหนเสมอเหมือน เนื้อองค์พระจะแกร่งมาก มีแสงวาวๆ แบบพิมพ์สวยงาม ยิ่งกว่าพระสมเด็จรุ่นอื่นๆ
ภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธี ได้มีการแจกจ่ายเป็นที่ระลึกให้แก่เจ้านาย ขุนนางทั่วไปในสมัยนั้น เพราะสมัยก่อนไม่มีการจำหน่ายเป็นเงินทองแต่อย่างใด ท่านทำพระแจกเพื่อต่ออายุพระพุทธศาสนาเท่านั้น ส่วนที่เหลือได้มีการบรรจุไว้ในพระเจดีย์รอบระเบียงและบนเพดานพระอุโบสถวัดพระแก้ว และถูกเก็บรักษาไว้จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงปี 2523 มีการซ่อมแซมพระอุโบสถวัดพระแก้วครบ 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ช่างที่มาซ่อมแซมจึงได้พบพระเครื่องสมเด็จพระแก้วที่บรรจุไว้ในพระเจดีย์ พระอุโบสถ จำนวนมาก และมีการลักลอบนำออกไปจำหน่ายที่สนามพระในราคาถูก แต่ไม่ค่อยมีคนสนใจนัก เชื่อว่าเป็นพระที่ปลอมออกมาขาย โดยที่ไม่มีใครรู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว เป็นพระแท้ เป็นพระเครื่องสูงศักดิ์มาก มีค่ายิ่งกว่าสมเด็จรุ่นไหนๆ
พระเครื่องสมเด็จพระแก้ว รุ่นนี้ นอกจากมีแบบพิมพ์พระพุทธปฏิมากรแล้ว ยังมีแบบรูปลอยตัวของสมเด็จในท่าภาวนาด้วย มีรูปพระแก้วมรกต 3 ฤดู และมีแบบพิมพ์ต่างๆ มากถึง 18 แบบ โดยบางองค์จะมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บางองค์จะเป็นการจารรึก พ.ศ.2411 บางองค์ด้านหลังพระเครื่องจะมีการจารึกดวงชะตาของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) อีกด้วย
ในอนาคตกาลจะมีคนแสวงหากันมาก หากใครพบควรให้รีบเก็บไว้ และน่าจะเป็นรุ่นสุดท้าย ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้าง เพราะหลังจากนั้นเพียง 4 ปี ท่านก็สิ้นชีพพิตักษัย เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2415
สมเด็จพระแก้วหรือพระสมเด็จฉัพพรรณรังสี พ.ศ.2411 นับว่าเป็นพระเครื่องที่หาค่ามิได้ ตีราคาเป็นเงินไม่ได้เลย และหายากมากในอนาคต เพราะมิได้สร้างเป็นจำนวนมาก โดยเข้าใจว่าสร้างตามอายุพระพุทธศาสนาในภัทรกัปนี้ ที่เชื่อกันว่าจะมีอายุ 5,000 ปี ท่านจึงสร้างพระเครื่องรุ่นนี้เท่าจำนวน 5,000 องค์ ซึ่งมีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนว่า ได้มีการจัดสร้างและสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้ทำพิธีอธิษฐานจิต นั่งปรกปลุกเสกในพระอุโบสถวัดพระแก้ว วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง สร้างโดยช่างสิบหมู่ รูปทรงพิมพ์จึงมีหลายแบบหลายพิมพ์ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมในวงการวัตถุมงคลแบบพุทธพาณิช เว้นแต่ผู้มุ่งเน้นพระพุทธคุณ อิทธิบารมี ที่แสวงหาบูชากัน
ต่อมาพระเครื่องสูงศักดิ์นี้ บางส่วนได้ตกมาถึงท่านพระครูวิเศษพัฒนคุณ หรือหลวงพ่อเที่ยง ผาสุโก สุดยอดพระเกจิมหาอาคมขลังแห่งจังหวัดปราจีนบุรี และ ครูโพธิ์ บ้านนาดี หลวงพ่อช้วน ยอดพระเกจิอีกท่านหนึ่งแห่งจังหวัดปราจีนบุรี และหลวงพ่อโง่น วัดพระพุทธบาทเขารวก ซึ่งหลวงพ่อโง่นครั้งหนึ่งเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านได้นำพระเครื่องรุ่นี้ไปให้ลูกศิษย์ทางโน้นบูชา ได้ราคาสูงถึงองค์ละ 1,000 เหรียญ US
นอกจากนี้ ยังมีสมเด็จพระแก้วเนื้อทองนพคุณ ที่ทำจากทองเนื้อเก้า เป็นทองคำบริสุทธิ์ เชื่อกันว่า ผู้ใดมีทองคำนพคุณติดตัวอยู่จะมีสิริมงคล ป้องกันเสนียดจัญไรและภัยอันตรายต่างๆนาๆได้ด้วย โดยมีการสร้างไว้ด้วยกัน 5 แบบ โดยแต่ละองค์มีทองนพเก้าหนักถึงองค์ละ 2 บาท หรือมากกว่า สร้างเป็นทองทึบทั้งแท่ง และมีแพร่หลายอยู่ในวงแคบเฉพาะเจ้านาย ขุนนางชั้นสูงเท่านั้น จึงไม่ค่อยมีใครได้พบเห็น หรือรู้จัก
ตำนานการสร้างสมเด็จพระแก้ว 2411 หรือพระสมเด็จฉัพพรรณรังสี หรือสมเด็จสายรุ้ง นับว่าเป็นสิ่งสูงค่า ผู้ใดพบเห็นที่ไหนควรรีบเก็บมาไว้เป็นสมบัติ นับว่าเป็นโชคของผู้นั้น ยิ่งกว่ามีเพชรนิลจินดา ใครมีไว้ในบ้านเรือน หรือพกติดตัวไว้ จะมีสิริมงคลอย่างสูง แคล้วคลาดภยันตราย โชคลาภอเนกอนันต์