นครสวรรค์-อบจ.เตรียมเริ่ม AI ในศูนย์เรียนรู้ทุ่งแว่น

นครสวรรค์-อบจ.เตรียมเริ่ม AI ในศูนย์เรียนรู้ทุ่งแว่น

ภาพ-ข่าว:ชาติชาย เกียรติพิริยะ

         เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ที่ห้องประชุมศูนย์สั่งการและควบคุมการปฏิบัติ(CCOC) องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วย พลตำรวจตรีวิฑูรย์ คลังพลอย ที่ปรึกษานายกอบจ.นครสวรรค์ สิบเอกพิทยา นาคกุญชร รองปลัดอบจ.นครสวรรค์ นางกาญจนา ชัยพรม ผอ.กองสวัสดิการสังคม และนายพิสิษฐ์ สุวรรณศรี หัวหน้าฝ่ายสถิติข้อมูลและสารสนเทศ ร่วมประชุมหารือการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ กับ ผศ.ชัชชัย เขื่อนธรรม นางสาวอาคิรา สนธิธรรม อาจารย์สาขาวิชาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
          สืบเนื่องจากการที่พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ มีแนวคิดในการฟื้นฟูศูนย์การเรียนรู้บ้านทุ่งแว่น ตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ โดยนายกอบจ.ให้ศึกษาหาแนวคิดในการนำนักวิชาการ หรือปราชญ์ชาวบ้านมาร่วมให้คำแนะนำ ให้ความรู้ในแต่ละด้าน โดยอาศัยการใช้เทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะการทำการเกษตร ประมง และปศุสัตว์ตามวิถีแบบเดิมพื้นที่อาจจะไม่เพียงพอ ต้องคำนึงถึงการใช้พื้นที่อย่างไรให้ได้ประโยชน์มากที่สุด และนำนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ และนักเรียนได้ประโยชน์ด้วยการฝึกปฏิบัติจริง ทำการศึกษาพัฒนาวิธีการดำเนินการ เพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิต การแปรรูป จนสามารถนำไปสู่การประกอบอาชีพด้วยตนเองได้ ตามแนวคิด” 1 คน 1 ความสามารถ 1 อาชีพ” ซึ่งในงบประมาณปี 2565 อบจ.ให้การสนับสนุนทางด้านการศึกษา ให้แก่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์ โดย อบจ.ได้มอบหมายให้ศึกษา ฝึกปฏิบัติในการทำกิจกรรม 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการเกษตร 2.ด้านประมง 3.ด้านปศุสัตว์ 4.ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และ 5.ด้านการพัฒนาป่าไม้
          โดย ผศ.ชัชชัย เขื่อนธรรม ได้นำเสนอว่า การเรียนในยุคนี้อาจจะไม่สำคัญที่สุด แต่ยังคงต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเกษตรที่มีปราชญ์ชาวบ้านให้ความรู้ ถ่ายทอดวิธีทำการเกษตรในรูปแบบเดิม และผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเป็นการลดต้นทุน ลดการใช้แรงงานของคน สร้างคุณภาพของวัตถุดิบ ด้วยการนำนวัตกรรม AI ในรูปแบบต่างๆ เช่น หุ่นยนต์ โดรน ไทมเมอร์ เซ็นเซอร์ เครื่องมือที่มีระบบเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทในด้านการเกษตร
         นางสาวอาคิรา สนธิธรรม ได้กล่าวถึงการนำ หุ่นยนต์เข้ามาในรูปแบบของการเกษตรสมัยใหม่ ได้แก่ ฟาร์มแม่นยำ พยากรณ์อากาศแบบเจาะจงพื้นที่ ตรวจสภาพดิน-ความ ชื้น-พืชในพื้นที่ เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ ควบคุมโรคและศัตรูพืช โดยเพิ่มประสิทธิภาพและควบคุมโรคศัตรูพืช ฉีดยาฆ่าแมลง ศัตรูพืช เมื่อจำเป็นเท่านั้น ติดตามสภาพดิน ตรวจสอบคุณภาพดิน ความชื้น แร่ธาตุ ทำให้เกษตรกรทราบว่า ควรปลูกพืชชนิดใด และปรับปรุงดินอย่างไรให้เหมาะสมกับการปลูกพืชนี้
          นอกจากนี้ยังมีระบบจัดเก็บข้อมูล ด้านการเพาะปลูก เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตและควบคุมต้นทุนการผลิตได้ รวมไปถึงช่วยในการวางแผนการผลิต เพื่อให้เป็นไปตามกลไกของตลาด ควบคุมการรดน้ำ โดยคำนวณปริมาณน้ำและเวลาในการรดน้ำที่เหมาะสม เป็นการช่วยส่งเสริมและควบคุมให้การปฏิบัติการทางการเกษตรมีความแม่นยำมากขึ้น การประยุกต์ใช้ IT และอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เซ็นเซอร์ ระบบควบคุม หุ่นยนต์ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ฮาร์ดแวร์อัจฉริยะ เทคโนโลยีการให้ปุ๋ย/น้ำ/ยากำจัดแมลงศัตรูพืช เป็นต้น ควบคู่กับการเลือกใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โทรศัพท์มือถือ และดาวเทียมต้นทุนต่ำแต่ความแม่นยำสูง (สำหรับการดูภาพและการวางตำแหน่ง) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยส่งเสริมแนวคิดการทำเกษตร 4.0
          พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า “ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาจังหวัดนครสวรรค์ และนำสิ่งประดิษฐ์ AI เข้ามาประยุกต์เทคโนโลยีใช้ ซึ่งนครสวรรค์มีความชำนาญในด้าน การเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต สร้างคุณค่าของผลผลิต คนที่มาซื้อสินค้า ซึ่งสินค้าของเราต้องคุณภาพดี ของพรีเมี่ยม ราคาถูก เพราะตลาดโลกเปลี่ยนไป ซึ่งตลาดโลกในหลายพื้นที่มีกำลังซื้อต่ำ ถ้าเรายังผลิตสินค้าในราคาแพง จะไม่สามารถแข่งในตลาดที่มีกำลังซื้อต่ำได้

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!