เชียงใหม่-ธปท.ออก 5 มาตรการ ช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

เชียงใหม่-ธปท.ออก 5 มาตรการ ช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ภาพ-ข่าว:ศราวุธ เจิมจันทร์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่

       ธนาคารแห่งประเทศไทยออก 5 มาตรการ ช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มุ่งเน้นช่วยเหลือให้ได้อย่างทั่วถึง และรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน
         วันนี้ (27 ก.ค. 64) ที่ห้องประชุม 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายวีระยุทธิ์ เลิศพูนวิไลกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้อำนวยการ) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เร่งจัดทำมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยมุ่งเน้นจุดเปราะบางให้ได้อย่างทั่วถึง และรองรับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งประกอบด้วยมาตรการต่างๆ ดังนี้
         (1) มาตการพักชำระหนี้ 2 เดือน โดยให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลา 2 เดือน ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของภาครัฐ ตั้งแต่งวดการชำระเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้เมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที ส่วนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม คือ ลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้ แต่รายได้ลดลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ สถาบันการเงินจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้
         (2) มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งให้การช่วยเหลืออ้างอิงแนวทางของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 และแนวทางอื่นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีการขยายมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ เพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ บบส. อีก 4 แห่ง ได้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ชโย จำกัด บริษัทบริหารสินทรัพย์ คอนเลคเซียส จำกัด บริษัทบริหาร
สินทรัพย์ ฮาร์โมนิช จำกัด และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ทวีทรัพย์ จำกัด
         (3) มาตรการสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบธุรกิจ สินเชื่อฟื้นฟู เน้นให้สภาพคล่องใหม่แก่ธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs วงเงิน 250,000 ล้านบาท ระยะเวลาการให้สินเชื่อ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยให้คิดเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี โดย 2 ปีแรกให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี และไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก โดยในจังหวัดเชียงใหม่สถาบันการเงินได้ยื่นขอกู้และได้รับอนุมัติแล้วจำนวน 908 ราย คิดเป็นเงินมูลค่าจำนวน 1,928.24 ล้านบาท ยอดเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 2.1 ล้านบาท
          (4) มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท เน้นช่วยธุรกิจที่ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว โดยให้ลูกหนี้สามารถโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ และมีสิทธิซื้อทรัพย์คืนได้ในภายหลัง
(5) โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ประชาชน ยอดสะสมครึ่งปีแรก ของปี 64 พบว่ามีการให้คำปรึกษาไปแล้วทั้งสิ้นรวม 681 ราย ทั้งนี้ประชาชนที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th หรือโทรสอบถามรายละเอียดได้ที่ call center 0-2283-6112

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!