ปทุมธานี-พระไม่ทิ้งโยม..คณะสงฆ์ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ภาพ-ข่าว:อนันต์ วิจิตรประชา
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 2 ตุลาคม 2565 ที่วัดสุวรรณบำรุงราชวราราม ต.บึงทองหลาง อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี พระครูสุวรรณวรการ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณบำรุงราชวราราม เจ้าคณะอำเภอลำลูกกา ในฐานะประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี ในวาระเร่งด่วนเพื่อปรึกษาหารือเรื่องการส่งมอบแรงใจความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่กำลังสร้างความเดือดร้อนขยายวงกว้างในเขตพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดปทุมธานี อยู่ในขณะนี้
ในโอกาสนี้ โดยดำริของเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม และพระเดชพระคุณพระราชสุทธิธรรมาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี พระครูสุวรรณวรการ ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วยคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี ได้ประชุมปรึกษาหารือ เรื่องการส่งมอบแรงใจความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ในเขตพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดปทุมธานี และการระดมสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคบรรเทาภัยจากแต่ละวัด เบื้องต้นรวบรวมได้ 800 ชุด และได้ลงพื้นที่นำร่องเพื่อร่วมกันส่งมอบถุงยังชีพ ชุดแรก จำนวน 100 ชุด ซึ่งภายในบรรจุข้าวสารอาหารแห้ง และของใช้จำเป็น เพื่อส่งแรงใจช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตพื้นที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
พระครูสุวรรณวรการ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณบำรุงราชวราราม เจ้าคณะอำเภอลำลูกกา ในฐานะประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า คณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี ได้ร่วมกันสนองตามดำริของเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ที่ได้โปรดเมตตามอบแนวทางการดำเนินงานสาธารณสงเคราะห์ไว้ 4 ประการ ประกอบด้วย ประการที่ 1. สงเคราะห์ หมายถึง การให้การสงเคราะห์สาธารณชน เพื่อบรรเทาทุกข์เบื้องต้น
โดยเข้าไปช่วยเหลือวัดและประชาชนผู้ประสบภัยต่างๆ ประการที่ 2. เกื้อกูล หมายถึง การที่คณะสงฆ์เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ ให้มีทรัพยากรเพียงพอกับการอยู่อาศัยและดำเนินชีวิตของคนและชุมชน ประการที่ 3. พัฒนา หมายถึง คณะสงฆ์เป็นผู้นำในการพัฒนาพื้นที่โดยใช้หลักธรรมมาประยุกต์ต่อการพัฒนาสังคม และประการที่ 4. บูรณาการ หมายถึง คณะสงฆ์ส่งเสริมความร่วมมือภาคีเครือข่ายให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการร่วมกันพัฒนา แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ผสานพลังผ่านภาคีเครือข่าย ซึ่งคณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี จะได้ขับเคลื่อนดำเนินงานเพื่อการสาธารณสงเคราะห์ เพื่อสังคม และประชาชนที่ยั่งยืนสืบไป