อุบลราชธานี-กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บินสำรวจลำน้ำมูลและน้ำชี พื้นที่ประสบอุทกภัย
ภาพ-ข่าว:กิตติภณ เรืองแสน
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานี ว่า วันที่ 3 ตุลาคม 2565 ที่ค่ายพระยอดเมืองขวาง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นายสำรวย สุดเฉียว รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ตามที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากพายุโนรู กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้สนับสนุน เฮลิคอปเตอร์เพื่อบินตรวจสถานการณ์และผลกระทบจากอุทกภัย ประกอบด้วยอำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอเขื่องใน อำเภอวารินชำราบ อำเภอสว่างวีระวงศ์ อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอสิรินธร อำเภอนาเยีย อำเภอตาลสุม อำเภอดอนมดแดง อำเภอโขงเจียม และพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอกันทรารมย์ อำเภอยางชุมน้อย พร้อมบินตรวจสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูล และแม่น้ำชี รวมจำนวน 2 เที่ยวบิน
โดยพบว่าสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตรส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ ตาลสุม เขื่องใน ดอนมดแดง พิบูลมังสาหาร สว่างวีระวงศ์ และอำเภอนาเยีย โดยจังหวัดอุบลราชธานีได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินอุทกภัยแล้ว
สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายสำคัญ เขื่อนธาตุน้อย (แม่น้ำชี) ที่อ.เขื่องใน จ.อุบลฯ มีความจุที่ระดับกักเก็บ 56.10 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำปัจจุบัน 98.29 ล้านลูกบาศก์เมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว 25.70 ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็น 105.90% เขื่อนราษีไศล,เขื่อนหัวนา (แม่น้ำมูล) มีความจุที่ระดับกักเก็บ 139.44 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำปัจจุบัน 304.24 ล้านลูกบาศก์เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว 130.16 ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็น 74.77% เขื่อนปากมูล(แม่น้ำมูล) มีความจุที่ระดับกักเก็บ 225.00 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับน้ำหน้าเขื่อนปัจจุบัน 103.14 ม.รทก.ระบาย 497.94 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนถนนสายหลักที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รถเล็กสัญจรได้ลำบาก ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 สายทางต่างระดับสีคิ้ว-อุบลราชธานี หรือถนนสีคิ้ว-เดชอุดม และ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 สายหัวทะเล นครราชสีมา-วารินชำราบ จ.อุบลฯ
สำหรับการปฏิบัติภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์เ จำนวน 3 ลำ โดยปฏิบัติภารกิจตั้งแต่วันที่ 2-9 ตุลาคม 2565 เป็นการบินตรวจสถานการณ์และผลกระทบจากอุทกภัย พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมบินตรวจสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูล และแม่น้ำชี เพื่อประเมินสถานการณ์ความเสียหาย และวางแผนการให้ความช่วยเหลือประชาชน ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานี ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 สาขาอุบลราชธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่