เชียงใหม่-กระทรวง อว. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อน “ศิลป์-วิทย์” สู่ระดับนานาชาติ
ภาพ-ข่าว:ศูนย์ข่าวเฉพาะกิจจังหวัดเชียงใหม่
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สู่ระดับนานาชาติ
วันนี้ (17 ต.ค. 65) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการเสวนาวิชาการธัชชาและการประชุมระดมความคิด เพื่อขับเคลื่อนสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ ห้องท้องฟ้าจำลอง อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีนโยบายหลักในการขับเคลื่อนวิทยาการ โดยนำเอาศาสตร์และศิลป์มาบูรณาการร่วมกัน จัดตั้ง “ธัชชา” และ “ธัชวิทย์” ซึ่งเป็นวิทยสถานทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และวิทยสถานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการวิจัยและวิชาการด้านโบราณคดีที่ครบวงจรและทันสมัยที่สุดในอาเซียน
โดยในวันนี้ทีมนักวิชาการด้านโบราณคดี และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกันสำรวจในพื้นที่เวียงท่ากาน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ จากนั้นได้ประชุมหารือทางวิชาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดรายละเอียดและการดำเนินโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมุ่งใช้ 3 เทคโนโลยีสำคัญ ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศขั้นสูง เทคโนโลยีขั้นสูงในการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของมนุษย์โบราณ และ เทคโนโลยีขั้นสูงในการวิเคราะห์อายุวัตถุโบราณ โดยวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ดำเนินจัดกลุ่มและเพิ่มความสามารถในการตรวจวิเคราะห์และสนับสนุนการค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์ ใน 3 มิติดังกล่าว เพื่อทำให้เกิดการพิสูจน์ยืนยันอย่างถูกต้อง รวมถึงเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ และพัฒนาบุคลากรวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์โบราณคดีให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีข้อจำกัดในการตรวจวิเคราะห์โบราณวัตถุต่างๆ โดยจะต้องส่งไปตรวจในต่างประเทศ ซึ่งหากสามารถนำเอาเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้ก็จะเป็นประโยชน์ในการสนับสนุนการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้เป็นอย่างดี