ศรีสะเกษ-กรมทรัพยากรน้ำจัดประชุมสร้างความรู้ระบบตรวจวัดปริมาณน้ำ
ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข
กรมทรัพยากรน้ำจัดประชุมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนระดับสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 5 เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจการใช้งานระบบตรวจวัดปริมาณน้ำที่พัฒนาขึ้นได้
เมื่อวันที่ 20 ต.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมโรงแรมพรหมพิมาน อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายพงศ์พัฒน์ เสมอคำ ผู้อำนวยการกองวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ กรมทรัพยากรน้ำ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนระดับสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 5 โครงการศึกษา ประเมินศักยภาพและพัฒนาระบบตรวจวัดปริมาณน้ำเก็บกักในแหล่งน้ำขนาดเล็ก ที่พัฒนาโดยกรมทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะที่ 2 โดยมีตัวแทนแหล่งน้ำจาก 14 แหล่งน้ำ รวม 56 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจาก จ.ศรีสะเกษ 8 คน จ.นครราชสีมา 3 คน จ.บุรีรัมย์ 2 คน และ จ.สุรินทร์ 1 คน เข้าร่วมประชุม โดยมี ดร.กฤษณัส สุรกิตย์ ทีมวิศวกรของโครงการ เป็นผู้กล่าวรายงานและนำคณะผู้จัดการประชุมให้การต้อนรับ
ดร.กฤษณัส สุรกิตย์ ทีมวิศวกรของโครงการ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความต้องการในการแก้ปัญหาของภาครัฐ ด้านการบริหารจัดการภัยแล้ง และภัยจากน้ำหลาก โดยที่หน่วยงานของรัฐยังขาดข้อมูลด้าน “บัญชีแหล่งน้ำในระดับตำบล และในระดับหมู่บ้าน” จึงส่งผลให้ไม่ทราบปริมาณน้ำที่แท้จริงในแหล่งน้ำนั้น ๆ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ประชาชนใช้ประโยชน์สำหรับเก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ส่งผลให้เมื่อถึงฤดูแล้ง และฤดูน้ำหลาก ปัญหาดังกล่าวยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงเป็นที่มาของโครงการค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบตรวจวัดปริมาณน้ำเก็บกักในแหล่งน้ำขนาดเล็กพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะที่ 2 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถประเมินศักยภาพในการเก็บกักปริมาณน้ำที่มีในปัจจุบัน และปริมาณน้ำที่คาดว่าจะขาดแคลนในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังช่วยให้หน่วยงานราชการสามารถวางแผนการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำได้ดียิ่งขึ้น ในการนี้ กรมทรัพยากรน้ำ จึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ดำเนินโครงการ เพื่อศึกษาและสำรวจแหล่งน้ำในพื้นที่ พร้อมทั้งดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในระดับแหล่งน้ำ เพื่อการประชาสัมพันธ์โครงการการสร้าง การรับรู้ การรวมรวบข้อมูลกิจกรรมการใช้น้ำ และการรับฟังข้อเสนอแนะ รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยนำร่องระยะที่ 1 ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 80 แหล่งน้ำ และดำเนินการต่อในระยะที่ 2 ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 46 แหล่งน้ำ รวม 126 แหล่งน้ำ คลอบคลุมพื้นที่ 3 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ในพื้นที่การปกครอง 17 จังหวัด ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายพงศ์พัฒน์ เสมอคำ ผู้อำนวยการกองวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นการประชุมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนระดับสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 5 เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจการใช้งานระบบตรวจวัดปริมาณน้ำที่พัฒนาขึ้นได้ และการเป็นส่วนหนึ่งของกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะอาสาสมัครตรวจวัดปริมาณน้ำ ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ด้านการป้องกันและบรรเทาภาวะวิกฤติน้ำ (น้ำท่วม น้ำแล้ง) เนื่องจากปัญหาหลักของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คือ การที่หน่วยงานภาครัฐไม่ทราบถึงข้อมูลปริมาณน้ำที่แท้จริง ที่มีอยู่ในแหล่งน้ำในระดับพื้นที่ ซึ่งแหล่งน้ำดังกล่าวมีความสำคัญต่อประชาชนในการใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ เพื่อการอุปโภค บริโภคและการเกษตร
นายพงศ์พัฒน์ เสมอคำ กล่าวต่อไปว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งมีประมาณ 70 % ของพื้นที่การเกษตรในประเทศไทย ส่งผลให้แหล่งน้ำนั้น ๆ ขาดการบริหารจัดการอย่างเหมาะสมในช่วงสภาวะภัยแล้ง และปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การนำแนวความคิดบัญชีน้ำและปริมาณน้ำมาประยุกต์ใช้กับแหล่งน้ำระดับตำบลและหมู่บ้าน จะส่งผลให้สามารถประเมินปริมาณน้ำที่มีในปัจจุบันและปริมาณน้ำที่คาดว่าจะขาดแคลนในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยให้หน่วยงานราชการสามารถวางแผนการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาน้ำได้ดียิ่งขึ้น เปิดการประชุมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนระดับสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 5 โครงการค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบตรวจวัดปริมาณน้ำเก็บกักในแหล่งน้ำขนาดเล็กพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะที่ 2