ศรีสะเกษ-สสจ.ดับฝัน 166 พยาบาลขอโอนย้ายไปสังกัด อบจ.

ศรีสะเกษ-สสจ.ดับฝัน 166 พยาบาลขอโอนย้ายไปสังกัด อบจ.

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข

        ศก. ชี้หากจะมีการโอนย้ายไปเพิ่มเติม จะต้องเป็นบุคลากรที่ทำงานปฐมภูมิเท่านั้น ที่จะเข้ากระบวนการถ่ายโอน ไม่รวมทุติยภูมิ และตติยภูมิ หากไม่เป็นไปตามหลักการดังกล่าว การถ่ายโอนทำไม่ได้
        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีพยาบาล จำนวน 198 คน จากโรงพยาบาลหลายแห่งในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ นำโดย นายแสวงชัย มีแสง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โดยมีการนำเอาป้ายเรียกร้องมีข้อความว่า พยาบาลวิชาชีพจาก รพช. รพท.รพศ.มีความประสงค์จะถ่ายโอนไปที่ รพ.สต.อบจ.โปรดให้เราไป ทำงานต่างจังหวัดขอย้ายมาใกล้บ้านย้ายไม่ได้สักที การถ่ายโอนตามภารกิจครั้งนี้ คือช่องทางได้ดูแลพี่น้องของเรา ข้าราชการถ่ายโอนรอบสองทุกสังกัดของ สธ.ต้องการถ่ายโอนไป อบจ.ตามภารกิจโปรดให้เราไป ทำงานกับใครเราก็คือพยาบาลวิชาชีพ ให้โอกาสเราทำงานที่เรารักและได้อยู่ใกล้ชิด “คนที่เรารัก” ขอร้อง (!) เป็นต้น จากนั้น ได้ยื่นหนังสือกับนายวิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกฤษ เพื่อขอให้พิจารณาให้การสนับสนุนพยาบาลวิชาชีพโอนย้ายไปสังกัด อบจ.ศรีสะเกษได้ด้วย ซึ่ง นายก อบจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ยินดีรับโอน เพราะเห็นว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้อยู่ที่ไหนก็ทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนไม่ว่าจะอยู่ที่โรงพยาบาลจะอยู่ที่ อบจ.หรืออยู่ที่ รพ.สต.อะไรต่างๆหน้าที่หลักของเขาเหล่านั้นก็คือดูแลสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน และฝากถึงกระทรวงสาธารณสุขขอให้ช่วยพิจารณาในเรื่องนี้ ตามข่าวที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

         ความหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายแพทย์ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า กระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจโอนย้ายไปสังกัด อบจ. แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีการเตรียมความพร้อม ทั้งท้องถิ่น ส่วนกลาง และประชาชน โดยประชาชนต้องได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมีระบบการทำงานที่เข้มแข็ง มีเอกภาพ และได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และ WHO ตลอดจนประชาชนทั่วไป ดังจะเห็นได้จากการรับมือกับ COVID-19 ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา รพ.สต.พร้อมบุคลากร จำนวน 117 แห่ง ใน จ.ศรีสะเกษ ได้ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ.ศรี สะเกษแล้ว
           นายแพทย์ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า ในการถ่ายโอนดังกล่าวมีบุคลากรสาธารณสุขถ่ายโอนไป จำนวนทั้งสิ้น 789 คน เป็นข้าราชการ 411 คน หากจะมีการโอนย้ายไปเพิ่มเติม จะต้องเป็นบุคลากรที่ทำงานปฐมภูมิเท่านั้น ที่จะเข้ากระบวนการถ่ายโอน ไม่รวม ทุติยภูมิ และตติยภูมิ หากไม่เป็นไปตามหลักการดังกล่าว การถ่ายโอนทำไม่ได้ และถ้าหากบุคลากรในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ถ่ายโอนผิดหลักการ จะส่งผลให้เกิดความขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก จนอาจถึงขั้นปิดแผนกซึ่งจะส่งผลกระทบกับประชาชนทั้ง จ.ศรีสะเกษที่จะต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วยได้
         นายแพทย์ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ ยังกล่าวด้วยว่า ตามข้อมูลที่ อบจ. ศรีสะเกษ ส่งรายชื่อผู้ที่ประสงค์ขอถ่ายโอน/ช่วยราชการ มีจำนวนทั้งหมด 166 คน เป็นพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 112 คน ปฏิบัติงานที่ รพ.สต. 7 คน นอกนั้นปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ จำนวน 105 คน บุคลากรพยาบาลใน จ.ศรีสะเกษ มีจำนวนทั้งสิ้น 2,458 คน คิดเป็นสัดส่วนต่อประชากร 1: 593 ค่าเฉลี่ยของประเทศ 1:373 ซึ่งถือว่า จ.ศรีสะเกษ ยังมีอัตรากำลังพยาบาลไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยอยู่ในขณะนี้

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!