ร้อยเอ็ด-ขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อ
ภาพ-ข่าว:คมกฤช พวงศรีเคน
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.30 น. นายสนอง ดลประสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อน เข้าร่วมประชุมดังกล่าว ณ ห้องประชุมชั้น 1 อาคารฝึกอบรม สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดร้อยเอ็ด
นายสนอง ดลประสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า จากข้อมูลของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาภาคบังคับ พบว่าในแต่ละจังหวัดในแต่ละปีการศึกษามีนักเรียนที่จบการศึกษาแล้วไม่ได้เรียนต่อ เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน หรือขาดโอกาส และมีความจำเป็นต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานไร้ฝีมือ” เพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัญหาดังกล่าว ทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการ ผลักดันเพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ
โดยเริ่มมีผลเป็นรูปธรรมชัดเจน เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2562 ที่ได้มีการลงนามในการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางาน เพื่อขยายผลการดำเนินโครงการและสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ของทุกจังหวัดทั่วประเทศ และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ทุกจังหวัดได้มีการดำเนินโครงการพร้อมกันทั่วประเทศ
ปีงบประมาณ 2565 สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานร้อยเอ็ด ได้มีการดำเนินการเปิดฝึกอบรมภายใต้โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อฯ ในหลักสูตรการฝึกเตรียมเข้าทำงานระยะเวลาการฝึกในสำนักงาน 2 เดือน และฝากฝึกในกิจการ 1 เดือน มีผู้เข้ารับการฝึก ปประกอบด้วย สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร สาขาช่างเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก แและสาขาช่างเชื่อมอาร์คโลหะด้วยมือ รวมจำนวน 10 คน และผ่านการฝึก 5 คน สาเหตุ นักเรียนยังไม่มั่นใจและไม่กล้าตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ เนื่องจากขาดเพื่อนร่วมโครงการฯ และเป็นวัยที่นิยมทำตามกระแสสังคมและตามเพื่อน รวมถึงปัญหาสถานการณ์โควิดที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจการศึกษาดูงานและเข้าร่วมโครงการฯ
ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2566 สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานร้อยเอ็ด ได้รับเป้าหมายในการฝึกอาชีพตามโครงการฯ จำนวน 10 คน สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เพื่อมอบหมายภารกิจและหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การกำหนดระยะเวลาที่ต้องดำเนินการตามปฏิทินการดำเนินงาน และการกำหนดหลักสูตรการฝึกเตรียมเข้าทำงาน สถานที่ฝึกอบรม และที่พัก โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ ที่มีฐานะยากจนและขาดโอกาสในการศึกษาต่อ ให้มีทักษะด้านอาชีพในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในฐานะ “แรงงานฝีมือ” เพื่อหารายได้ช่วยครอบครัวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี