ปราจีนบุรี-จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ“การเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤต และป้องกันภัยยาเสพติดในสถานศึกษาเอกชน”
ภาพ-ข่าว:มานิตย์ สนับบุญ
หลังเหตุสลดกราดยิง! สชจับมือทภ.1และสห.ทบ. เตรียมความพร้อมครูเอกชนผ่านการฝึกซ้อมในสถานการณ์เสมือนจริง ให้สามารถนำไปจัดทำระบบรักษาความปลอดภัยในโรงเรียนเอกชนต่อไป
เมื่อเวลา 14.30 น.วันนี้ (24 พฤศจิกายน 2565) พลโทชิษณุพงศ์ รอดศิริ แม่ทัพน้อยที่ 1 (มทน.1) เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤต และป้องกันภัยยาเสพติดในสถานศึกษาเอกชน” พร้อมด้วย นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) และพลตรีสันติพงษ์ มั่นคงดี เจ้ากรมการสารวัตรทหารบก (จก.สห.ทบ.) เพื่อเตรียมความพร้อมผู้บริหาร ครู และบุคลากรโรงเรียนเอกชน ผ่านการฝึกซ้อมการเอาตัวรอดและการป้องกันภัยยาเสพติดจากสถานการณ์เสมือนจริง ให้สามารถนำไปจัดทำระบบรักษาความปลอดภัยในโรงเรียนเอกชนได้ต่อไป โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ คณะวิทยากรจากกรมการสารวัตรทหารบก คณะผู้จัดงานจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) คณะผู้บริหาร ครู และบุคลากรโรงเรียนเอกชน เข้าร่วมในพิธี ณ ห้องประชุมคอนเวนชั่น ฮอลล์ ทวาราวดี รีสอร์ท อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี
พลโทชิษณุพงศ์ รอดศิริ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษาที่เป็นอันตรายต่อครู อาจารย์ เด็กนักเรียน นักศึกษา อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและปัญหาทางสังคมเพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายคนหันไปใช้ยาเสพติดเป็นที่พึ่งจนถลำลึก ทำลายทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ก่อให้เกิดเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ความปลอดภัยในสถานศึกษาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทั้งกับครู อาจารย์ โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ เพราะความปลอดภัยในสถานศึกษาจะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ส่งผลต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ ต่อไป หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงควรตระหนักถึงความสำคัญและเล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการหาแนวทางที่เป็นรูปธรรม เพื่อป้องกันเหตุร้ายในสถานศึกษา และการเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา กองทัพภาคที่ 1 (ทภ.1) มีความพร้อมอย่างมากในการร่วมสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับสถาบันการศึกษาและสังคมไทยต่อไป
นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติที่หน่วยงานทุกภาคส่วนต้องร่วมมือในการควบคุม ป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในการดำรงชีวิต เนื่องจากปัจจุบันปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต ส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ บั่นทอนความเจริญของประเทศชาติ และส่งผลต่อความปลอดภัยในสถานศึกษา ท่านตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) จึงได้กำหนดนโยบายและจุดเน้นสำคัญของกระทรวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง การศึกษาเพื่อความปลอดภัย โดยได้มีการจัดตั้ง MOE Safety Center ศูนย์ความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการขึ้น เพื่อจัดทำแผนและแนวทางการบริหารจัดการระบบมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับสถานศึกษา รวมทั้งให้มีการกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหายาเสพติด และอาวุธปืน โดยกำชับส่วนราชการและสถานศึกษาในการดูแลเด็กและเยาวชน จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เน้นการดำเนินงานด้านการป้องกัน การปลูกฝัง และการปราบปราม
นายมณฑล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกับกองทัพภาคที่ 1 และกรมการสารวัตรทหารบก ในการจัดทำหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤต และป้องกันภัยยาเสพติดในสถานศึกษาเอกชน” เพื่อให้บุคลากรของโรงเรียนเอกชนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะในการป้องกันภัย สามารถป้องกันตนเองและบุคคลอื่นจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่หรือปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ สามารถแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟู และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย รวมไปถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ โดยหวังว่าผู้เข้าร่วมการอบรมจะสามารถนำความรู้ และวิธีการต่าง ๆ ที่ได้รับ ไปปรับใช้ในการจัดทำระบบการรักษาความปลอดภัยของสถานศึกษาได้อย่างเหมาะสม เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดต่อไป นายมณฑล กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤต และป้องกันภัยยาเสพติดในสถานศึกษาเอกชน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 27 พฤศจิกายน 2565 ณ ทวาราวดี รีสอร์ท อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรม ได้แก่ ผู้บริหาร ครู และบุคลากรโรงเรียนเอกชน จำนวน 119 โรงเรียน จาก 36 จังหวัด รวมจำนวนทั้งสิ้น 211 คน ได้รับความอนุเคราะห์ในการจัดทำหลักสูตรและสนับสนุนคณะวิทยากรผู้มีความรู้และประสบการณ์ จากกองทัพภาคที่ 1 (ทภ.1) และกรมการสารวัตรทหารบก (สห.ทบ.) เลขาธิการ กช. กล่าวทิ้งท้าย