อยุธยา–ปิดการฝึกโครงการพระราชทานโคกหนองนาแห่งน้ำใจฯ
ภาพ – ข่าว นราเอก ตันศิริ / นพดล บำเพ็ญสัตย์
พระบาทสมเด็จพระเจ้อยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีปิดการฝึกโครงการพระราชทานโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวังเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมราชทัณฑ์ รุ่นที่ 2 เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 2 ตุลาคม 2563 ที่อาคารส่วนพัฒนาผู้ต้องขัง เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เป็นประธานในพิธีปิดการฝึกโครงการพระราชทานโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมราชทัณฑ์ รุ่นที่ 2 พร้อมกับมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้เข้ารับการฝึก และให้โอวาทเป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยมี นายชาติชัย ร่วมโพธิ์ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาผู้ต้องขัง เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย พัศดี และผู้ต้องขังร่วมในพิธีในครั้งนี้
ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน ให้มีการฝึกโครงการพระราชทานโคกหนองนาแห่งน้ำใจ และความหวัง เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นการประยุคใช้ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา เพื่อสร้างต่อแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยสามารถดำเนินการได้ในทุกเรื่อง และมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพื้นฐานความคิด การฝึกวินัย การลงมือปฏิบัติ ตลอดจนการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถพึ่งพาตนเอง และช่วยเหลือผู้อื่น ที่ได้รับความเดือดร้อนได้ เมื่อพ้นโทษออกไปภายนอกนั้น
ปัจจุบัน การฝึกโครงการพระราชทานโคกหนองนาแห่งน้ำใจ และความหวัง ของเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมราชทัณฑ์รุ่นที่ 2 นี้ มีผู้เข้ารับการฝึก เป็นผู้ต้องขังที่เป็นคนไทยจำนวน 64 คน และผู้ต้องขังชาวต่างชาติจำนวน 7 คน รวมทั้งสิ้น 71 คนโดยปฏิบัติการฝึกอบรมเป็นเวลา 14 วัน ระหว่างวันที่ 8 กันยายน ถึง วันที่ 1 ตุลาคม 2563 โดยแบ่งการฝึกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ การอบรมพึ่งตนเองด้วยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง การแปลงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย การออกแบบแนวความคิดการบริหารจัดการพื้นที่ขนาดเล็ก การประยุกต์ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำน ตามภูมิสังคม ลงบนกระดาษ และ การสร้างพื้นที่จำลอง (Table Top Exercise) วางแผนการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อพออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น การปฏิบัติในพื้นที่จริงมีขนาด 412 ตารางเมตร ตามทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ตามภูมิสังคม และ การสรุปและประเมินผล ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ผู้ต้องขัง สามารถพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ทั้งสามารถช่วยเหลือประชาชน ทำประโยชน์พื่อส่วนรวมได้ ซึ่งหลังจากนี้แล้ว ผู้ต้องขังที่จะรับการพ้นโทษในโอกาสต่อไป จะต้องไปดำเนินการในพื้นที่ตามภูมิลำเนาของตนเอง อันเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมาหาราช บรมนาถบพิตร โดยการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และช่วยกันพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป