เชียงใหม่-เริ่มแล้ว..!มหกรรมแก้หนี้สัญจรชู 3 แนวทาง “แก้หนี้เดิม เสริมรายได้ สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน”
ภาพ-ข่าว:สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
กระทรวงการคลัง ธปท.และธนาคารกรุงไทย นำทัพสถาบันการเงินของรัฐ ธนาคารพาณิชย์และหน่วยงานพันธมิตรรวม 15 องค์กร จัดใหญ่ “มหกรรมแก้หนี้สัญจร : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 3วันที่ 16-18 ธ.ค. 65 ที่ จ.เชียงใหม่ จัดเต็มมาตรการแก้หนี้ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน
วันนี้ (16 ธ.ค. 65) นายอาคม เติมพิทยไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมแก้หนี้สัญจร : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงาน
นายอาคม เติมพิทยไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยต้องการเปิดโอกาสให้ประชาชน และผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาหนี้สินจากภาครัฐ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและตรงจุด
ด้านนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง ทำให้ประชาชนขาดรายได้และเกิดปัญหาหนี้สินพอกพูน โดยการให้คำปรึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชน และผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ รวมถึงภาคธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีทางออกและสามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินได้อย่างครบวงจร เพื่อให้สามารถประคองตัวไปพร้อม ๆ กับหาโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวได้
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ มีธนาคารพาณิชย์ร่วมกับพันธมิตร รวม 15 องค์กร นำเสนอมาตรการแก้ไขหนี้สินแบบองค์รวม ครอบคลุมหนี้ทุกประเภท ทั้งหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล หนี้เช่าซื้อรถยนต์ และหนี้ SMEs ผ่านโปรแกรมความช่วยเหลือตั้งแต่ก่อนจะผ่อนชำระไม่ไหว กลุ่มที่เป็นหนี้เสีย และกลุ่มที่ถูกฟ้องคดี เพื่อลดภาระทางการเงินด้วยการผ่อนปรนและปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่แข็งแกร่ง ผ่านการให้ความรู้ทางการเงิน และสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม อีกทั้งยังส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นในทุกมิติ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน