นครปฐม-สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานในพิธีประทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ม.มหามกุฏราชวิทยาลัย
ภาพ-ข่าว:ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จทรงเป็นประธานในพิธีประทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2564 และ 2565
วันที่ 17 ธันวาคม 2565 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จทรงเป็นประธานในพิธีประทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2564 และ 2565 ณ อาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โดยมีพระเทพวัชรเมธี อธิการบดีมหาวิทยาลัยฯ พระเถรานุเถระ นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครปฐม เสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ คณาจารย์ นิสิต บรรพชิต และคฤหัสน์ เฝ้ารับเสด็จ
สำหรับในปีการศึกษา 2564 และ 2565 สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 26 รูป/คน ปริญญาดุษฎีบัณฑิต จำนวน 70 รูป/คน ปริญญามหาบัณฑิต จำนวน 233 รูป/คน และปริญญาบัณฑิต จำนวน 1,747 รูป/คน รวมทั้งสิ้น 2,076 รูป/คน
มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาขึ้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2436 ตามพระดำริสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพื่อเป็นสถานศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูงของพระภิกษุสามเณร ต่อมาในปี 2488 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ โปรดให้จัดการศึกษาในรูปมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเรียกชื่อว่า “สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย” ต่อมาในปี 2540 พระบาทสมเด็จพระบรมนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดฌกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย และตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย แบ่งส่วนงานจัดการศึกษาเป็น 5 คณะ ได้แก่ คณะศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย โดยมีการขยายขอบเขตการศึกษาไปสู่ส่วนภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศรวม 7 วิทยาเขต 3 วิทยาลัย และได้สนองงานของคณะสงฆ์ธรรมยุตในการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปยังต่างประเทศเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาในไพรัชประเทศอีกด้วย
นอกจากนี้ได้ดำเนินการพัฒนางานด้านต่างๆ ตามแผนกลยุทธ์และพันธกิจที่วางไว้อย่างเต็มความสามารถ เพื่อก้าวไปตามหลักปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า “ความเป็นเลิศทางวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนา” โดยได้ให้การสนับสนุนผู้ที่มีความสนใจในการศึกษาและเรียนรู้ด้านพุทธศาสนาให้เกิดมีความเข้าใจพระธรรมนัยอย่างถ่องแท้ พร้อมทั้งมีองค์ความรู้ในการวิจัยและผลิตผลงานทางวิชาการตามมาตรฐานสากลร่วมด้วย เพื่อยกระดับการเผยแผ่พุทธศาสนาสู่ระดับนานาชาติ ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านพุทธศาสนาจนเป็นที่ยอมรับ จากการผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมและปัญญา ให้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาและประเทศชาติตั้งแต่อดีตตราบจนถึงปัจจุบัน