ประจวบคีรีขันธ์-ชมรมชาวใต้สืบสานประเพณีจัดพิธีสมโภชเรือชักพระ

ประจวบคีรีขันธ์-ชมรมชาวใต้สืบสานประเพณีจัดพิธีสมโภชเรือชักพระ

ภาพ-ข่าว:เอกภพ วงษ์ประเสริฐ 

       ชมรมชาวใต้จัดพิธีสมโภชเรือชักพระสืบสานประเพณีชาวใต้ ปักพุ่มไข่ต้ม 3,000 ใบ ข้าวต้มใบกะพ้อ 6,000 ห่อ แจกผู้ศรัทธาเพื่อความเป็นสิริมงคล ช่วงเทศกาลออกพรรษา
         เมื่อเวลา 20.00 น.วันที่ 2 ต.ค.63 ที่บริเวณหน้าศาลหลักเมือง ถนนสละชีพ เขตเทศบาล อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ พันเอก กรกานต์ นาเวชวนิชกุล รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ในพิธีสวดทำบุญฉลองสมโภชเรือชักพระของชมรมชาวใต้ โดยมีนายพิชิต สันติเมธากุล ประธานชมรมชาวใต้ และสมาชิกร่วมกันจัดขึ้น มีคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ และผู้เคารพเลื่อมใสศรัทธา เข้าร่วมพิธี โดยในพิธีได้จัดให้พระสงฆ์จากวัดธรรมิการามวรวิหาร จำนวน 9 รูป สวดเจริญพระพุทธมนต์ พร้อมกับการแสดงรำ ชุด เทโวโรหณะ จากนักเรียนโรงเรียนเทศบาลบ้านค่าย รำสมโภชบริเวณด้านหน้าเรือชักพระ ก่อนจะมีการแจกจ่ายไข่ต้มจำนวน 3000 ใบ และข้าวต้มใบกระพ้อ 6000 ห่อ ให้กับผู้ที่ร่วมทำบุญปักพุ่มนำไปรับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
         นายพิชิต สันติเมธากุล อดีตรองนายกเทศมนตรีเมืองประจวบ ประธานชมรมชาวใต้ เปิดเผยว่า กิจกรรมเรือชักพระเป็นประเพณีของชาวพุทธทางภาคใต้ ซึ่งได้กระทำเป็นประเพณีสืบต่อกันมาอย่างช้านาน โดยในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้มีชาวใต้อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และได้มีการรวมตัวจัดกิจกรรมนี้ขึ้นร่วมกับประเพณีของชาวประจวบ ซึ่งถือว่าจังหวัดประจวบเป็นจังหวัดที่อยู่ในส่วนทางภาคใต้ตอนบน จึงได้นำกิจกรรมจัดร่วมกับเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีทางภาคใต้ร่วมกับประเพณีของชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยได้จัดต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเทศกาลออกพรรษา ซึ่งในปีนี้เข้าสู่ปีที่ 37 แล้ว
           นายโฆษิต เศรษฐประเสริฐ อายุ 80 ปี ที่ปรึกษาชมรมชาวใต้ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองประจวบ ได้เล่าประวัติความเป็นมาของเรือชักพระว่า ในอดีตเรื่องเล่าสืบต่อกันมาในสมัยพุทธกาลว่า ในช่วงเข้าพรรษาพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปเทศนาธรรม ให้นางฟ้า เทวดา บนสรวงสวรรค์เป็นเวลา 3 เดือน และหลังจากนั้นจะเสด็จกลับลงมาโปรดสัตว์บนโลกมนุษย์ เมื่อมนุษย์โลกทราบข่าวการเสด็จกลับมาของพระพุทธเจ้า จึงได้จัดเรือบุษบกประดับด้วยดอกไม้ไปรอต้อนรับพระพุทธเจ้า แล้วแห่ไปรอบเมือง เพื่อโปรดสัตย์บนโลกมนุษย์ ซึ่งประเพณีดังกล่าวจะแตกต่างกันออกไปตามพื้นที่ของแต่ละท้องถิ่น จังหวัดไหนมีคลองมีแม่น้ำก็จะใช้เรือ ซึ่งแต่ละพื้นที่รูปร่างและการจัดตกแต่งเรือก็จะแตกต่างกันออกไป ส่วนถ้าพื้นที่ไหนไม่มีคลองก็จะไปทางถนน หรือปรับเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นแทนตามความเชื่อแต่ละพื้นที่ จึงเป็นประวัติความเป็นมาของเรือพระหรือเรือชักพระดังกล่าวในปัจจุบัน

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!