ลพบุรี-หนึ่งเดียวในโลก..สืบสานประเพณีตักบาตรลูกอม
ภาพ-ข่าว:กฤษณ์ สนใจ
ในวันเทศกาลวันออกพรรษา 15 ค่ำเดือน 11ชาวไทยเบิ้ง ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี จำนวนมากได้ร่วมงานประเพณี “ตักบาตรลูกอม” หนึ่งเดียวในโลก ที่ทำสืบทอดกันมานานกว่า100 ปี จุดประสงค์หลักก็เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ สารเณรพกติดตัวเวลาที่ออกเดินธุดงค์ไม่มีน้ำดื่ม จะได้ใช้อมแก้กระหายน้ำ
วันนี้ (3 ต.ค. 63) ที่วัดโคกสำราญ หมู่ที่ 3 ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี วัดเก่าแก่ประจำหมู่บ้านที่มีประวัติยาวนาน ชุมชนชาวไทยเบิ้งที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่ ตามต่างจังหวัด ต้องกลับมาที่บ้านโคกสลุง เพื่อร่วมตักบาตรทำบุญในวันออกพรรษา ซึ่งจะมีประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ เช่นทุกพื้นที่ แต่ชุมชนแห่งนี้มีการตักบาตรที่ไม่เหมือนใค หรืออาจเป็นที่เดียวในโลกก็ว่าได้ เนื่องจากตักบาตรเทโวโรหณะ จังหวัดอื่นๆ ทั่วไทย จะเป็นการตักบาตรข้าวต้มมัดข้าวต้มลูกโยน หรือตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง แต่สำหรับที่วัดโคกสำราญแห่งนี้จะใช้ลูกอม ลูกกวาด ที่ทำจากน้ำตาลสด นมสดที่ชาวบ้านกวนกันเอง หรือลูกอมที่หาซื้อจากท้องตลาด มาเพื่อตักบาตรเทโวแก่พระสงฆ์ ซึ่งเป็นการทำสืบทอดประเพณีการตักบาตรลูกอม สืบต่อกันมายาวนานกว่า 100 ปี
พระครูผาสุกพัฒนสุนทร เจ้าอาวาสวัดโคกสำราญ และผู้เฒ่าผู้แก่กล่าวว่า การตักบาตรเทโวของที่นี่ เป็นการสืบทอดประเพณีเก่าของชาวไทยเบิ้ง ซึ่งการตักบาตรลูกอมมีความหมายคือในอดีตกาลหลังออกพรรษาแล้ว พระสงฆ์ สามเณร ส่วนใหญ่ก็จะออกเดินธุดงค์เพื่อปฎิบัติธรรม แต่การเดินทางเมื่อครั้งสมัยก่อนไม่สะดวก หนทางกันดาร พระสงฆ์ที่รับบาตรลูกอม ก็จะนำติดตัวไปด้วย หากเกิดหิวน้ำ กระหายน้ำระหว่างการเดินทางธุดงค์ ก็จะใส่อมลูกอมแทนการดื่นน้ำเพื่อแก้กระหาย หรือบางครั้งระหว่างออกธุดงค์ พระเกิดอาพาธเมื่อกินยาลูกกลอนแล้วมีอาการขมคอ ก็จะใช้ลูกอม อมแก้อาการขมได้